วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เครือข่ายชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ 
ตำบลเกาะยาวน้อย อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา

1. ความเป็นมาของเครือข่าย
อำเภอเกาะยาว          ความเป็นมาในอดีต สัณนิฐานว่าคนกลุ่มแรกที่เดินทางมาตั้งหมู่บ้านในเกาะยาวเป็นชาวประมงซึ่งออกเดินทางเร่ร่อนทำการประมงในทะเลอันดามันเมื่อถึงหน้ามรสุมจึงหาสถานที่เพื่อหลบคลื่นลม เมื่อพบพื้นที่อุดมสมบูรณ์จึงตั้งบ้านเรือน และชวนกันอพยพมาตั้งบ้านเรือน สร้างเรือกสวนไร่นาที่ทำมาหากิน คนกลุ่มแรก หัวหน้ากลุ่ม คือ โต๊ะหลวงชิต (มโนห์รายอดทอง) และโต๊ะแม่ฝ้าย อพยพมาจากจังหวัดตรังในราว พ.ศ. 2270 และประมาณปี พ.ศ. 2328 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชกองทัพเรือของพระเจ้าปะดุงแห่งหงสาวดีบุกเข้าโจมตี เมืองถลางในศึกถลางครานั้นไม่เพียงแต่ชาวถลางเท่านั้นที่ลุกขึ้นต่อสู้ป้องกันเมืองยังมีกองทัพหัวเมืองทางภาคใต้ เช่น เมืองนคร เมืองไทรบุรีร่วมกับกองทัพของกรุงเทพฯ ยกกองทัพมาช่วยเมืองถลางซึ่งในการเดินทางของกองทัพนั้นไม่สามารถที่จะเดินข้ามไปยังเมืองถลางผ่านทางช่องแคบปากพระ(ช่องแคบสะพานสารสิน)ได้ เพราะมีกองทัพพม่าเฝ้าดูอยู่หลวงท้ายน้ำซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่จึงได้ยกทัพผ่านจังหวัดตรังมาตั้งทัพที่เมืองตะลิบง(ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรังในปัจจุบัน)เพื่อที่จะยกกองทัพมาทางเรือ ไปเมืองถลางในการเดินทัพในครั้งนั้นได้กวาดต้อนคนในพื้นที่จังหวัดตรังสตูลมาช่วยรบกับกองทัพพม่าด้วยกองทัพของหลวงท้ายน้ำได้นัดกับกองทัพหัวเมืองในภาคใต้ให้มารวมทัพกันที่เกาะยาวน้อย (ซึ่งในปัจจุบันสถานที่ตั้งกองทัพที่เกาะยาวน้อยได้เรียกว่า "บ้านท่าค่าย") เมื่อกองทัพทั้งหมดมาพร้อมกันก็ยกกองทัพผ่านไปทางเกาะนาคาและไปขึ้นทีเมืองถลางต่อไปหลังเสร็จสงครามทหารและพลเมืองที่โดนกวาดต้อนมากับกองทัพส่วนหนึ่งก็ไม่เดินทางกลับ ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เกาะยาว ที่มาจากจังหวัดตรังก็ตั้งบ้านเรือนที่ เกาะยาวน้อย เช่น นายอุเส็น นายอุสันตั้งบ้านเรือนที่โล๊ะหา (อ่าวใน) ที่มาจากจังหวัดสตูลและเมืองไทรบุรีที่นำโดยหวันมาลีก็ตั้งบ้านเรือนที่เกาะยาวใหญ่ ก่อนปี พ.ศ. 2446 บริเวณเกาะเหล่านี้ขึ้นตรงต่ออำเภอเมืองพังงา ได้แบ่งการปกครองออกเป็น 2 ตำบล 24 หมู่บ้าน มีนายบ้านเป็นผู้ดูแลปกครอง มีที่ทำการเป็นศาลาเล็ก ๆเรียกกันว่า "ทำเนียบ"จะมีเจ้าหน้าที่จากอำเภอมาตรวจตราและเก็บภาษีอากรเป็นครั้งคราวการเดินทางก็ใช้เรือแจวหรือเรือใบเท่านั้นและต้องใช้เวลาเดินทางแต่ละครั้งหลายวัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2446 ทางราชการได้ยกฐานะบริเวณเกาะเหล่านี้ตั้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภอเรียกชื่อว่า "กิ่งอำเภอเกาะยาว ต่อมาทางจังหวัดได้รับให้ยกฐานะกิ่งอำเภอเกาะยาวขึ้นเป็น "อำเภอเกาะยาว"ได้และทางจังหวัดได้ทำพิธีเปิดอำเภอขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2531 อำเภอเกาะยาวจึงมีฐานะเป็นกิ่งอำเภออยู่ 85 ปี ทั้งนี้ได้จัดตั้งขึ้นเป็นอำเภอตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ เล่ม 104 ตอนที่ 278 ลงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2530
เกาะยาวน้อย ตั้งอยู่ในเขต อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา อำเภอเกาะยาว มีพื้นที่ 147.8 ตารางกิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 เกาะ มี 3 ตำบลคือ เกาะยาวน้อย , เกาะยาวใหญ่ , พรุใน ชาวบ้านบนเกาะยาวน้อยส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีอาชีพประมง ค้าขาย มาเที่ยวที่นี่ ต้องเที่ยวแบบธรรมชาติ ถึงจะได้บรรยากาศ เพราะ ว่าหมู่เกาะที่นี่สวยงามมากๆ มีเกาะเล็กเกาะน้อยรอบๆ เกาะ เป็นเกาะที่เหมาะสำหรับ นักท่องเที่ยวที่ชอบความสงบ ซึ่งถ้าใครที่ชื่นชอบธรรมชาติ รักสงบ การพักผ่อนบนเกาะยาวน้อย นอกจากจะเลือกมาพักผ่อนตามรีสอร์ท ต่างๆ แล้ว บนเกาะยาวน้อยยังมีการบริการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์วิถีชีวิตของชาวเกาะยาวเกี่ยวข้องกับทะเล มีการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน โดยใช้เครื่องมือที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน  ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ทั้งอาศัยศาสนาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ทำให้สภาพสังคมของชาวเกาะยาว เป็นสังคมที่น่าอยู่  สงบ และเรียบ ง่าย นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเกาะยาวน้อย  ได้ชมธรรมชาติและบรรยากาศที่สวยงาม เกาะยาวน้อยมีเกาะเล็กเกาะน้อยรอบๆ เกาะ เป็นเกาะที่เหมาะสำหรับ นักท่องเที่ยวที่ชอบความสงบ ซึ่งถ้าใครที่ชื่นชอบธรรมชาติ รักสงบ บนเกาะยาวน้อยยังมีการบริการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ และ Long Stay   ซึ่ง Long Stay  จะเป็นที่พักแบบแยกส่วนจากเจ้าของบ้าน  คล้าย ๆ รีสอร์ท  ส่วนโฮมสเตย์เป็นที่พักรวมกับเจ้าของบ้าน  โดยการท่องเที่ยวโฮมสเตย์ที่เกาะยาวน้อยแห่งนี้ มีกลุ่มโฮมสเตย์ มีชื่อว่า ชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชนชาวเกาะยาวน้อย   กลุ่มโฮมสเตย์เกาะยาวน้อยถือเป็นโฮมสเตยที่มีชื่อเสียงและมีการจัดการที่ดี จนได้รับรางวัลมามากมาย  โดยมีกิจกรรมต่างๆ เช่น เที่ยวรอบเกาะยาวน้อย โดยรถยนต์ไปดูวิถีชีวิตบนเกาะ ดูการทำนา ทำเครื่องมือประมง การทำโอทอป ทำผ้าบาติก ผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ ทำผลิตภัณฑ์จาก กะลามะพร้าว ไปดูลิงเก็บมะพร้าว หรือออกเรือกับครอบครัวที่พักด้วย ไปดูวิถีชีวิตในทะเล ดูการวางอวน กู้อวน การเลี้ยงกุ้งมังกรในกระชัง และไปเล่นน้ำดำดูปะการัง ดูระบบนิเวศ รวมถึงเที่ยวตามเกาะใกล้เคียง
ชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชนชาวเกาะยาวน้อย เกิดจากปี พ.ศ. 2540 กระแสของการท่องเที่ยวของเกาะยาวเพิ่มสูงมาก จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนเกาะยาว และการเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการในด้านการสร้างที่พัก หรือร้านอาหารเพื่อบริการนักท่องเที่ยวทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนด้านต่างๆ เช่น ถางป่าหรือปรับพื้นดิน เพื่อสร้างที่พัก การทิ้งน้ำเสียที่ไม่มีการบำบัดลงทะเล การซื้อขายที่ดิน การไม่ได้รับความสะดวกของนักท่องเที่ยว และประการสำคัญที่สุดคือ ประชาชนในท้องถิ่นขาดความเข้าใจในเรื่องของการท่องเที่ยวเมื่อการท่องเที่ยวเข้ามามีบทบาทสำคัญทำให้ประชาชนอยากมีส่วนร่วมในเรื่องการจัดการการท่องเที่ยวกำหนดทิศทางการเจริญเติบโตของเกาะยาว และการมีส่วนในรายได้จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็น กลุ่มเกาะยาวโฮมสเตย์ เป็นการรวมกลุ่มกันของคนในชุมชนซึ่งมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1.     ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการและกำหนดทิศทางการท่องเที่ยวของเกาะยาว
2.     ส่งเสริมและสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
3.     สร้างงานและกระจายรายได้ของประชาชนในชุมชน
4.     ส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะยาว
2. รูปแบบหรือโครงสร้างของเครือข่าย
          รูปแบบการทำงาน คือ การทำงานกันแบบ เพื่อนต่อเพื่อน ญาติต่อญาติ
          โครงสร้างของเครือข่ายชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หมู่ที่ 1  ตำบลเกาะยาวน้อย  อำเภอเกาะยาว  จังหวัดพังงา

การบริหารจัดการของกลุ่มชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชนเกาะยาวน้อย (โฮมสเตย์) ต.เกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา มีคณะกรรมการกลุ่มชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชนเกาะยาวน้อย (โฮมสเตย์) มีจำนวน 16 คน ประกอบด้วย
          1.  นายดุสิต               บุตรี              ฝ่ายประสานงานตลาดต่างประเทศ
          2.  นายสำเริง             ราเขต            ฝ่ายติดต่อประสานงาน
          3. นายถนัด                ศรีสมุทร                   ฝ่ายจัดบ้าน
          4.  นายชัสมาส            สกุลชัย           ฝ่ายจัดบ้าน
          5. นางล่อดีหย๊ะ           ระวังชา           ฝ่ายจัดบ้าน
          6. นางอัจฉรา              บุลซากี           ฝ่ายจัดรถ
          7. นางจงจิต               ไร่ใหญ่            ฝ่ายจัดรถ
8. นายประสิทธิ           เก็บทรัพย์        ฝ่ายการเงิน
9. นางโสถิต               นิลสมุทร         ฝ่ายการเงิน
10. นายเชวง              ศรีสมุทร                   ฝ่ายการเงิน
11. นางวรรณา            เริงสมุทร         ฝ่ายบัญชี
12. นางวรรณา            เริงสมุทร         ฝ่ายบัญชี
13. นายสมพงศ์           หนูนวล           ฝ่ายต้อนรับ
14. นายธเนศ              เริงสมุทร         ฝ่ายต้อนรับ
15. นายอัครวุฒิ           ระวังชา           ฝ่ายต้อนรับ
16. นายสกล              มุกดา             ฝ่ายต้อนรับ
3. วัตถุประสงค์และเป้าหมายของเครือข่าย
          วัตถุประสงค์ของเครือข่าย
1.       เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน
2.       เพื่อให้มีการบริหารการจัดการโดยอย่างมีส่วนร่วม
3.       เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมประเพณี วิถีชีวิต และวัฒนธรรมท้องถิ่น
เป้าหมายของเครือข่าย
1.       เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน
2.       เพื่อสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิตผู้มาเยือน
3.       เพื่อสร้างความภาคภาคภูมิใจให้ชุมชนและตนเอง



4. บทบาทของผู้นำและสมาชิกในเครือข่าย
บทบาทผู้นำ เป็นแกนนำของสมาชิกในกลุ่มในการรวมกลุ่ม เป็นผู้คอยกำหนดทิศทางการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ รวมถึงการกำหนดทิศทางการประชาสัมพันธ์ การมอบหมายหน้าที่ให้แก่สมาชิก การเรียกประชุมสมาชิกเครือข่าย การแก้ไขปัญหาภายในกลุ่ม
บทบาทสมาชิกในเครือข่าย ในองค์ประกอบของความเป็นเครือข่าย สิ่งหนึ่งที่จะขาดมิได้ก็คือการมีส่วนร่วม การพึ่งพาอาศัยและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของสมาชิก จะเป็นปัจจัยที่หนุนเสริมให้เครือข่ายนั้นมีพลังมากขึ้น เพราะการมีส่วนร่วมจะทำให้สมาชิกมีความรู้สึกว่า ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย ซึ่งจะช่วยให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันและพึ่งพากันมากขึ้น กลุ่มชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยชุมชนเกาะยาวน้อย  (โฮมสเตย์)  ตำบลเกาะยาวน้อย  อำเภอเกาะยาว  จังหวัดมีการประชุมประจำเดือน  เดือนละ 2 ครั้ง  มีการตัดสินใจร่วมกัน  แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของชุมชน

5. เทคนิคและเครื่องมือในการพัฒนาเครือข่าย
เทคนิคและเครื่องมือที่สำคัญที่สุดของระบบเครือข่าย คือ
1. หลักการมีส่วนร่วมของชุมชนในเครือข่าย  ดังนี้
1. การรับฟังความคิดเห็นของชุมชนเป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลที่    เป็นข้อเท็จจริง ทราบถึงปัญหาที่แท้จริงของชุมชน
2. กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันช่วยกันคิด ช่วยกันทำในการแก้ไขปัญหาลองผิดลองถูกในชุมชนกันเอง มีอิสระในการคิด ซึ่งอาจจะเรียกว่ามีการวางแผนร่วมกันก็ได้
3. การมีเป้าหมายเดียวกันในการร่วมกันแก้ไขปัญหา
4. มีการปฏิบัติตามแนวทางที่ร่วมกันคิดในชุมชนนั้นๆไปในแนวทางเดียวกัน
5. หลังจากปฏิบัติแล้วนำสิ่งที่ได้หรือปัญหาที่เกิดขึ้นมาพูดคุยกันและมีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกันเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการปฏิบัติของชุมชน
2. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ข้อมูลข่าวสาร ประสบการณ์ แล้วพัฒนาไปสู่การวางแผนร่วมกันดำเนินกิจกรรมบางอย่างรวมกัน ทำให้ด้านหนึ่งหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อน อีกด้านหนึ่งทำให้กิจกรรมนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นการใช้ทรัพยากร ใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการรณรงค์เรื่องต่างๆ ถ้าทำเป็นแบบเครือข่ายจะได้ผลมากกว่า    เงื่อนไขสำคัญของเครือข่าย คือ ต้องมีการติดต่อสัมพันธ์สื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอระหว่างสมาชิก อาจมีผู้ประสานซึ่งเป็นบุคคลหรือกลุ่มประสาน ซึ่งดำเนินกิจกรรมการประสานแต่ไม่ใช่เป็นผู้ดำเนิน กิจการแทนสมาชิกเครือข่ายในทุกเรื่อง
3. ความหลากหลายของสมาชิก เป็นเครือข่ายแบบผสมผสาน ระหว่างสมาชิกที่แตกต่างกันในสถานภาพ เช่น เป็นผู้นำชุมชน ข้าราชการ นักธุรกิจ นักวิชาการ แต่เมื่อทุกคนมีเป้าหมายร่วมกันก็สามารถเป็นเครือข่ายได้  อีกแบบหนึ่ง คือ เครือข่ายขององค์กรหรือคนที่มีสถานภาพเดียวกัน อาชีพเดียวกัน ระดับเดียวกัน เช่น เกษตรกร นักวิจัย องค์กรพัฒนาเอกชน  สถาบันวิจัย  เป็นต้น
4. อัตลักษ์ชุมชนอิสลาม ความเป็นชุมชนอิสลาม ตามประเพณีของท้องถิ่น เช่น บายศรีสู่ขวัญ  พิธีแต่งงาน (นิกะห์) เดือนรอมฎอน การประกอบอาชีพของชุมชน เช่น การทำผ้าบาติก การผูกอวน การกรีดยางพารา และการใช้ลิงเก็บมะพร้าว รวมถึงวิถีชีตชาวบ้าน
ข้อกำหนดของชุมชนที่ให้นักท่องเที่ยวปฎิบัติ เช่น
1.       ห้ามแต่งตัวล่อแหลมในชุมชน
2.       ห้ามเสพหรือดื่มของมึนเมาไม่ว่าในบ้านหรือนอกบ้านในขณะมาพักโฮมสเตย์
3.       ห้ามเล่นการพนัน
4.       ห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาในบ้าน (สุนัข)
5.       ห้ามนำเนื้อสัตว์ที่ต้องห้ามมากินในบ้าน (เนื้อหมู)
6. กิจกรรมในเครือข่าย
1. โครงการรักษ์สิ่งแวดล้อม
กลุ่มเกาะยาวโฮมสเตย์เล็งเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากปัญหาของสิ่งแวดล้อมจึงได้จัดทำกิจกรรมเพื่อให้ประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากสิ่งแวดล้อม ป่าชายเลนนอกจากจะมีความสำคัญต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม   ยังเป็นแนวป้องกันทางธรรมชาติที่ช่วยรักษาแนวชายฝั่งทะเลไม่ให้ถูกกัดเซาะโดยคลื่นลมและกระแสน้ำชายฝั่ง   เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำและช่วยกรองมลพิษบริเวณชายฝั่งเป็นแหล่งไม้สำหรับใช้ก่อสร้าง   และยังเป็นกำแพงลดความแรงของคลื่นและพายุที่จะมากัดเซาะได้อีกทางหนึ่งจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชายเลนเอาไว้ไม่ให้สูญหาย   และปรับปรุงพัฒนาไปใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมและสอดคลองกับวิถีชีวิตของชาวบ้านและชุมชน
จึงได้จัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นมา เช่น การปลูกป่าโกงกาง การปล่อยแม่ปู การตักขยะในทะเล ฯลฯนอกจากนี้ยังมีการหาแนวทางในการที่จะลด ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ อันเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิด ภาวะเรือนกระจก เช่น ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด หรือไบโอดีเซลโดยจัดตั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซลชุมชน การรับซื้อน้ำมันเครื่องเก่าเพื่อลดการนำน้ำมันเครื่องเก่าทิ้งลงทะเลหรือทิ้งบนดิน และกิจกรรมที่กำลังผลักดันคือ การใช้พลังงานทดแทนโดยการใช้ กังหันลมผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในครัวเรือน และการต่อเรือไฟเบอร์สำหรับชาวประมง เพื่อลดการตัดไม้มาต่อเรือ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนจัดการอบรมเพื่อที่ดำเนินการให้เป็นผลสำเร็จต่อไป โลกในปัจจุบันประสบปัญหาที่สำคัญอันเกิดจากสิ่งแวดล้อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ เช่น ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง เกิดภัยธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดจากมนุษย์เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติกันอย่างไม่มีการควบคุม และวางแผนในการใช้ ปัญหาที่เห็นได้ชัดก็คือ ภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นปัญหาที่คนทั้งโลกต้องช่วยกันแก้ไข และป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบไปสู่ลูกหลานของเราในอนาคต
2. โครงการร่วมด้วยช่วยลูกปู
ในแต่ละวันชาวประมงจับปูม้ามาจากทะเลเพื่อมาจำหน่ายนั้น จะมีแม่ปูไข่ซึ่งจะถูกจับมาด้วย กลุ่มเกาะยาวโฮมสเตย์ จึงได้ทำโครงการ "ร่วมด้วย  ช่วยลูกปูเพื่อที่จะนำแม่ปูม้าที่มีไข่นำไปอนุบาลในกระชัง เพื่อที่แม่ปูม้าจะปลดไข่ออกไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มปริมาณปูม้าในธรรมชาติแล้ว ยังช่วยสร้างอาชีพให้ชาวประมงที่อยู่บริเวณชายฝั่งอีกด้วย   โดยการซื้อแม่ปูไข่จากชาวประมงขั้นตอนในการทำงาน นำแม่ปูมาพักในกระชังเพื่อให้แม่ปูปลดไข่สู่แหล่งน้ำธรรมชาติ นำแม่ปูที่ปลดไข่ออกหมดแล้วไปจำหน่ายหรือปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ราคาแม่ปูไข่ ราคาตัวละ  25  บาท

3.      กิจกรรมปลูกป่าชายเลน
ในสถานะการณ์ปัจจุบันมีปัญหาการกัดเชอะชายฝั่งอย่างมากทั่งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยส่งผลกระทบถึงพื้นที่เกาะยาวด้วย และในวงเสวนาของชุมชนเกาะยาว ได้หยิบยกปัญหาโลกร้อนที่เป็นปัญหาส่งผลกระทบเป็นวงกว้างของโลกในปัจจุบัน ก็สรุปสาเหตุเกิดมาจาก" คน " ได้ทำลายป่าไม้ ในพื้นที่เกาะยาวจึงได้มีการรณรงค์ให้มีการปลูกป่าชายเลน ในพื้นที่เกาะยาวให้มากขึ้น เพื่อเป็นแนวกันคลื่น ลดการกัดเชาะชายฝั่น และลดภาวะโลกร้อน นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ในปัจจุบันเข้าใจคำว่า การท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้อย่างชัดเจน เพราะการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นการท่องเที่ยวที่ทุกฝ่ายมีความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ หลายครั้งที่นักท่องเที่ยวได้ถามถึงกิจกรรมที่นักท่องเที่ยว สามารถทำได้แม้ในเวลาสั้นๆ ที่เดินทางมาท่องเที่ยว ในพื้นที่ของเกาะยาว กลุ่มเกาะยาวโฮมสเตย์ก็จะจัดให้นักท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรมปลูกป่าชายเลน โดยจัดเตรียมต้นพันธุ์โกงกาง สำหรับปลูกในพื้นที่ที่เป็นแหล่งป่าเสื่อมโทรม หรือเป็นพิ้นที่ที่ถูกทำลายจากคลื่น ซึ่งบประมาณในการจัดหาต้นพันธุ์ ก็ได้จากการรับบริจาคจากนักท่องเที่ยว และในปี 2552 ศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนประเด็นทรัพยากรธรรมชาติ และเกษตรกรรมยั่งยืน จังหวัดพังงาได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดหาต้นพันธุ์โกงกางสำหรับนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปต้องการปลูกป่า
กิจกรรมปลูกป่าโกงกาง จึงเป็นกิจกรรมที่นักท่องท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แม้เพียงต้นไม้ต้นหนึ่ง ก็จะเป็นห่วงแรกของห่วงโซ่อาหารและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศอีกทั้งยังสามารถลดการกัดเชอะชายฝั่งของคลื่นลมมรสุม และเป็นที่อนุบาลสัตว์น้ำในพื้นที่ให้มีความอุดมสมบูรณ์ ผลประโยชน์ก็กลับคืนสู่ชุมชนอีกครั้ง

7. การมีส่วนร่วมของสมาชิกในเครือข่าย
การมีส่วนร่วมของสมาชิกเป็นองค์ประกอบสำคัญของเครือข่าย การมีส่วนร่วม การพึ่งพาอาศัยและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของสมาชิก จะเป็นปัจจัยที่หนุนเสริมให้เครือข่ายนั้นมีพลังมากขึ้น เพราะการมีส่วนร่วมจะทำให้สมาชิกมีความรู้สึกว่า ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย ซึ่งจะช่วยให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันและพึ่งพากันมากขึ้น นอกจากนี้ ในระบบความสัมพันธ์ของเครือข่าย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะนำไปสู่การให้และการรับ รวมไปถึงการระดมทรัพยากรเพื่อให้ภารกิจที่เครือข่ายดำเนินการร่วมกันนั้นบรรลุถึงเป้าหมาย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จึงเป็นทั้งแนวคิด กระบวนการและวิธีการของการจัดการเครือข่าย เป็นกระบวนการสร้างข้อมูลที่ต่อเนื่อง ดังนั้น การมีส่วนร่วมและการแลกเปลี่ยนจึงเสมือนกลไกที่เป็นแรงผลักให้ความเป็นเครือข่ายดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
การมีส่วนร่วมของสมาชิกในเครือข่าย สมาชิกแบ่งกันหลายหน้าที่
1.         เริ่มจากการฝ่ายติดต่อประสานงานทั้งนักท่องเที่ยวในประเทศและนักท่องเที่ยว
       ต่างประเทศ
2.       ฝ่ายรถรับส่งนักท่องเที่ยว
3.       ฝ่ายจัดบ้าน
4.       ฝ่ายการเงิน
5.       ฝ่ายบัญชี
6.       ฝ่ายต้อนรับ
7.       ฝ่ายกระจายรายได้

8. ผลงานที่ประจักษ์ของเครือข่าย
โฮมสเตย์มาตรฐานไทย และโฮมสเตย์ต้นแบบ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ในปี 2547 สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกิฬา ได้มีการจัดให้มีการประเมินคุณภาพมาตรฐานของโฮมสเตย์ในประเทศไทย โดยมีเกณฑ์ประเมิน 8 ด้าน 43 ตัวชี้วัด ดังนี้ รับตราสัญลักษณ์     โฮมสเตย์มาตรฐานไทยและโฮมสเตย์ต้นแบบ
ตัวชี้วัดด้านที่พัก โครงสร้างบ้านพักมีความมั่นคง บ้านพักมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และ แสงสว่างส่องเข้าถึง ไม่มีกลิ่นอับ และมีหลังคาที่สามารถกันน้ำฝนได้ มีที่นอนที่สบายตามสภาพชุมชน และเครื่องนอนที่สะอาด มีห้องอาบน้ำและส้วมที่สะอาด มีการเปลี่ยนผ้าปูที่นอน และอุปกรณ์สำหรับการนอนทุกครั้ง เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาพัก มีการกำจัดแมลงที่เป็นอันตรายต่อ สุขภาพอยู่เสมอ โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน มีการดูแลสภาพแวดล้อมบริเวณบ้าน


ตัวชี้วัดด้านอาหารและโภชนาการ มีอาหารปรุงมาอย่างดี ภาชนะที่ใช้สะอาดและปลอดภัย ครัวอยู่ในสภาพที่สะอาดไม่มีกลิ่น อุปกรณ์ที่ใช้ในครัวสะอาดถูกสุขลักษณะ มีน้ำดื่มและน้ำใช้ที่สะอาด มีร้านอาหารในชุมชน
ตัวชี้วัดด้านความปลอดภัย มีการจัดเวรยามดูแลความปลอดภัยมีเครื่องมือและวิธีการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ เมื่อเกิดเหตุร้าย หรือกรณีนักท่องเที่ยวเจ็บป่วยมีการเตรียมความพร้อม เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น มีการตักเตือนนักท่องเที่ยว กับการเก็บรักษาทรัพย์สิน และเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับยาในกรณีที่นักท่องเที่ยวมีโรคประจำตัว มีการดูแลและซ่อมแซมล็อคต่าง ๆ ในที่พักเพื่อความปลอดภัยอยู่เสมอ
ตัวชี้วัดด้านการจัดการ มีการรวมกลุ่มของชาวบ้าน จัดการในรูปของชมรมหรือสหกรณ์มีคณะกรรมการบริหารโครงการ มีการกำหนดข้อปฏิบัติสำหรับนักท่องเที่ยว เพื่อมิให้เกิดปัญหา ที่ขัดต่อวัฒนธรรม จารีตประเพณี ความเชื่อของชุมชน มีระบบการจองล่วงหน้า และลงทะเบียน เพื่อทราบข้อมูลเกี่ยวกับนักท่องเที่ยว มีรายละเอียดเกี่ยวกับ ค่าธรรมเนียม และ บริการต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวทราบชัดเจน มีข้อมูล กิจกรรมท่องเที่ยวอย่างละเอียด ให้นักท่องเที่ยวได้เลือก ชุมชนไม่หวังจะสร้างรายได้ จากโฮมสเตย์อย่างเดียว และต้องไม่มีผลกระทบต่ออาชีพดั้งเดิมของชุมชน มีผู้นำเที่ยว หรือมัคคุเทศก์ที่เป็นคนท้องถิ่น และมีความพร้อมในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยวได้
ตัวชี้วัดด้านกิจกรรมท่องเที่ยว มีกิจกรรมท่องเที่ยว เช่น เดินป่า ตกปลา ขี่ม้า ปีนเขา      ขี่จักรยาน ฯลฯ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนในชุมชน มีกิจกรรมฝึกหัดศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น ทอผ้า จักสาน ฯลฯ มีกิจกรรมต้อนรับ ตามประเพณีของท้องถิ่น เช่น บายศรีสู่ขวัญ ฯลฯ มีกิจกรรมบันเทิง เช่น ดนตรีการเต้นรำ การแสดงพื้นบ้าน ฯลฯ มีกิจกรรมการท่องเที่ยว ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ระหว่าง นักท่องเที่ยวกับเจ้าของบ้าน เช่น กิจกรรมเกี่ยวกับ การประกอบอาชีพของ ชุมชน และ การถ่ายทอด ตำนานหรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

รางวัลหมู่บ้านหมู่บ้าน OTOP Village Champion : OVC ในการดำเนินงานของกลุ่มเกาะยาวโฮมสเตย์นั้น จะยึดเอาชุมชนเป็นหลัก ไม่เน้นในการที่จะทำงานเฉพาะกลุ่ม พัฒนาและสร้างองค์กรให้เกิดขึ้นภายในชุมชน เพื่อการสร้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ทุกคนในชุมชน ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายในการทำงานร่วมกันทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล  อำเภอ และจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่หมู่ที่ 5 บ้านริมทะเล ซึ่งเป็นหมู่บ้านพื้นที่ดำเนินการของกลุ่มเกาะยาวโฮมสเตย์ และยังสร้างเครือข่ายกลุ่มอาชีพอื่นๆ ด้วย และกลุ่มเกาะยาวโฮมสเตย์เป็นแกนนำในการประกวดโครงการ SMART OTOP Village และประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัล หมู่บ้าน OTOP   Village  Champion : OVC  ในระดับประเทศ ปี 2549  จาก กรมการพัฒนาชุมชน   กระทรวงมหาดไทย
รางวัลหมู่บ้านหมู่บ้าน OTOP   Village  Champion กลุ่มเกาะยาวโฮมสเตย์ได้รับการคัดเลือกจากงานมหกรรมการเรียนรู้เครือข่ายหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง "อยู่เย็นเป็นสุข" เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ได้รับรางวัลมาตรฐานงานชุมชน(มชช)ต้นแบบดีเด่น ประเภท กลุ่มที่มีการบริหารจัดการกลุ่มยอดเยี่ยมแห่งปี 2550 จากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
รางวัลผู้นำอาชีพก้าวหน้าดีเด่น, รางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอพียง กลุ่มเกาะยาวโฮมสเตย์ ร่วมกับกลุ่มองค์กรในหมู่ที่ 5 บ้านริมทะเล ได้ส่งหมู่บ้านริมทะเล เข้าประกวด หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากวิถีชีวิตของคนเกาะยาว ได้ยึดหลักพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวเป็นหลักในการดำเนินชีวิต
9. ปัญหาและอุปสรรคของเครือข่าย
ปัญหาในช่วงเริ่มต้นก่อตั้งกลุ่มชุมชนนั้นการดำเนินงานฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตามปณิธานที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรก ทำได้ค่อนข้างลำบาก ทั้งนี้เกิดจากสาเหตุและปัจจัยหลายประการ ทั้งภายในและภายนอก ดังนี้
          1. ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประมงพื้นบ้านที่ใช้เครื่องมือจับสัตว์หลายชนิดในชุมชน
          2. ปัญหากลุ่มประมงพาณิชย์ ซึ่งใช้เรืออวนลากอวนรุน ในการจับสัตว์น้ำ และกลุ่มประมงพื้นบ้านที่เน้นอนุรักษ์ ร่วมการต่อต้านการใช้เครื่องมือที่ผิดกฎหมายที่ทำลายล้าง เกิดการขัดแย้งและส่งผลกระทบความสัมพันธ์ในชุมชนและยังถ่ายทอดความขัดแย้งสู่ลูกหลาน ซึ่งเด็กก็แบ่งเป็น 2 ฝ่าย เหมือนผู้ใหญ่เช่นกัน
          3. ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ กับ กลุ่มชมรม ฯ ทั้งภายในและภายนอกชุมชนโดยอ้างว่าเป็นกลุ่มที่ผิดกฎหมาย
          4. ปัญหาขัดแย้งระหว่างกลุ่มชมรมฯ กับ นายทุนนอกพื้นที่ เช่น กระบี่ ภูเก็ต จากเรือประมงพาณิชย์
จากประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นสามารถแก้ไขด้วยการบริหารจัดการแบบบูรณาการและกระบวนการมีส่วนร่วมจากชุมชนตลอดจนการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งต้องเกิดจากชาวเกาะยาวน้อยทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและร่วมมือทำหน้าที่ปกป้อง คุ้มครอง เยียวยาและแก้ไขปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นบนเกาะยาวโดยยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชนมุสลิมเป็นสำคัญ



#สัมมนาการบริหารเครือข่ายการพัฒนาท้องถิ่น (POL 6308)
#5824882858
 
 
 

  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น