แนวคิดเกี่ยวกับความรู้
ญาณวิทยา (epistemology) หมายถึง ศาสตร์หรือทฤษฎีเกี่ยวกับความรู้แท้
หรือความรู้ที่มีระบบ ในทางปรัชญา ความรู้ต้องเป็นความรู้ในความจริง
เพราะฉะนั้นปัญหาญาณวิทยา จึงไม่ใช่เพียงว่า ความรู้คืออะไร แต่ยังเกี่ยวพันกับความจริงด้วย
เช่น อะไรคือสิ่งที่เรารู้ มนุษย์รู้ความจริงได้หรือไม่ โดยวิธีใด
ความจริงเป็นสิ่งสัมพัทธ์ (Relative) หรือเป็นสิ่งสัมบูรณ์ (Absolute) เป็นต้น
โปรตากอรัส (Protagoras) : มนุษย์คือมาตรการสำหรับทุกสิ่ง
(Man is the measure of all things.) : ความรู้และความจริงเป็นอัตวิสัย
โปรตากอรัสเห็นว่าสิ่งที่เรียกว่า “ความรู้” นั้นเป็นเพียงความเห็นหรือทัศนะของแต่ละคน (subjective opinion) ความรู้ขึ้นอยู่กับผู้รู้แต่ละคน สิ่งที่ดูเหมือนเป็นความจริงสำหรับคนหนึ่ง ๆ ก็จะเป็นจริงสำหรับคน ๆ นั้น ไม่มีความจริงปรนัย (objective truth) ที่ใช้และยอมรับได้สำหรับทุกคน ดังนั้น สำหรับโปรตากอรัส ความรู้ที่เป็นสากล แน่นอนตายตัวสำหรับทุกคนจึงไม่มีอยู่ แม้กระทั่ง “ความฝันก็อาจเป็นจริงได้สำหรับผู้ฝัน” กล่าวได้ว่า ความจริงในทัศนะของโปรตากอรัสเป็นสิ่งสัมพัทธ์ คือ เปลี่ยนแปลงได้ ไม่ตายตัว ไม่จริงแท้แน่นอน
แนวคิดของโปรตากอรัส ยังเสนออีกว่า มนุษย์ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปแสวงหาความรู้ที่เป็นสากลเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน เขาไม่เชื่อว่ามนุษย์จะสามารถมีความรู้ในสิ่งเป็นจริงสูงสุด (Absolute Reality)
ในฐานะนักคิดในลัทธิประสบการณ์นิยม
(empiricism) โปรตากอรัส เน้นประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส และเชื่อว่าประสาทสัมผัสเป็นสิ่งจริง (seeing is believing) การศึกษาไม่ใช่วิธีการเพื่อค้นหาว่าสิ่งใดจริงหรือเท็จ ครูอาจารย์ก็ไม่ใช่ผู้ที่จะบอกหรือแสดงความจริง เป็นเพียงผู้ชักชวนให้ผู้เรียน “ยอมรับ” คำพูดหรือความเชื่อของครูอาจารย์เท่านั้น ส่วนการตัดสินใจยอมรับเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล
โสคราตีส (Socrates)
โสคราตีส เชื่อว่าความรู้เป็นสิ่งสัมบูรณ์ คือ เป็นสากล เที่ยงแท้แน่นอน เป็นความรู้ในความจริง และมีความรู้ชนิดเดียวคือ ความรู้ชนิดที่ทำให้ผู้รู้รักความจริง เทิดทูนคุณธรรม สามารถคิดและทำได้อย่างถูกต้อง
โสคราตีสเชื่อว่า ผู้มีความรู้จะไม่เป็นคนเลวโดยเด็ดขาด ส่วนผู้ที่ยังทำผิด ก็เพราะเขาไม่มีความรู้ มีแต่เพียงความเห็น จึงอาจผิดพลาดได้เป็นธรรมดา
ผู้มีความรู้ทุกคนสามารถเข้าถึงความจริงได้ตรงกัน เพราะความรู้หรือความจริงเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวมนุษย์อยู่แล้ว เรียกว่าเป็นความรู้ก่อนประสบการณ์ (Apriori Knowledge) ดังนั้นสิ่งที่ถูกรู้คือ ตัวเรา มิใช่โลกภายนอก คนเราต้องศึกษาตนเอง (Know Thyself) ให้เข้าใจแล้วจะพบความจริง
วิธีการที่โสคราตีสใช้ในการศึกษาตนเองก็คือ การคิดตรึกตรองในขณะจิตสงบ และอีกวิธีหนึ่งคือ การถาม-ตอบ หรือที่เรียกว่า วิธีการของโสคราตีส (Socratic Method) ประกอบด้วย
1. สงสัยลังเล (skeptical) โสคราตีสจะเริ่มต้นด้วยการยกย่องคนอื่น พร้อมกับขอร้องให้ช่วยอธิบายเรื่องที่ยังไม่กระจ่างให้ฟัง เช่น ความรัก ความงาม คุณธรรม ความยุติธรรม ความรู้ เป็นต้น
2. สนทนา (conversation) โสคราตีสจะเป็นผู้ตั้งคำถามให้คู่สนทนาเป็นผู้ตอบ เขาเชื่อว่าวิธีการนี้จะทำให้คู่สนทนาเปิดเผยความจริงที่มีอยู่ในตัวเองออกมา โดยมีเขาเป็นเพียงผู้ช่วย ไม่ใช่ผู้นำความรู้ไปให้ เพราะความรู้ไม่ใช่สิ่งใหม่ ขอเพียงนำออกมาให้ถูกวิธี
3. หาคำจำกัดความ (conceptional หรือ definitional ) โสคราตีส เชื่อว่าความจริงมาตรฐานจะแฝงอยู่ในคำจำกัดความ หรือคำนิยาม ที่สมบูรณ์ เช่น ความยุติธรรม หากเรายังไม่รู้ว่า ความยุติธรรมคืออะไร เราก็ยังไม่เข้าใจและไม่รู้จักว่าการกระทำใดยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม เป็นต้น ดังนั้นการสนทนาจึงเป็นการเสนอคำนิยามศัพท์ และพยายามขัดเกลาคำนิยามนั้นให้บกพร่องน้อยที่สุด
4. ทดสอบด้วยการลงมือปฏิบัติ โดยใช้วิธีการยกตัวอย่างที่มีสภาพแวดล้อมต่างกันมาช่วยโต้แย้งเพื่อขัดเกลาคำนิยาม คำนิยามใดที่ยังโต้แย้งได้ก็แสดงว่ายังไม่สมบูรณ์ จะต้องหาคำจำกัดความที่ทุกคนยอมรับโดยไม่มีข้อแย้ง
5. สรุปกฎเกณฑ์ไว้เป็นมาตรฐาน เพื่อนำไปใช้อ้างอิงต่อไป รวมถึงการพิสูจน์คำนิยามดังกล่าวด้วย
พลาโต (Plato) : การเรียน คือ การทบทวนความรู้เดิม
ในทัศนะของพลาโต ความรู้ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ หากเป็นสิ่งที่มีมาก่อนแล้ว (Apriori) ดังนั้น ผู้มีความรู้คือ ผู้ที่จิตของเขาได้สัมผัสกับ “แบบ” ซึ่งเป็นความจริงสูงสุด ส่วนการรับรู้อื่น ๆ เป็นเพียงความเชื่อ หรือความเห็น มิใช่ความรู้
พลาโตเสนอว่า จิตหรือวิญญาณดั้งเดิมของมนุษย์ ซึ่งเป็นอมตะนั้น คุ้นเคยกับ “แบบ” ดีอยู่แล้ว แต่เมื่อจิตมาคลุกคลีกับโลกแห่งวัตถุทำให้หลงลืมไป กระบวนการศึกษาเป็นหนทางที่จะทำให้จิตฟื้นความทรงจำได้ การเรียนจึงเป็นการทบทวนสิ่งที่เคยรู้มาแล้ว ครูเป็นเพียงผู้ “ถาม” เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ครูไม่ได้ป้อนหรือให้ความรู้ใหม่แก่ผู้เรียน
พลาโตไม่เห็นด้วยกับนักปรัชญาโซฟิสต์ (อย่าง โปรตากอรัส) ที่เชื่อว่าความรู้คือประสาทสัมผัสและความเห็นส่วนบุคคล เพราะพลาโตเชื่อว่า ประสาทสัมผัสอาจลวงเราได้ และยังเป็นเพียงเงาหรือมายาภาพของแบบเท่านั้น
พลาโต กล่าวถึงความรู้ 4 ระดับคือ
1. การคาดคะเน หรือ การเดา (conjecture) จัดเป็นความรู้ที่มีความแน่นอนต่ำสุด เช่น ความรู้ที่ได้มาจากประสาทสัมผัส จินตนาการ ความฝัน ภาพสะท้อนและเงาของสิ่งต่าง ๆ (เรื่องนักโทษที่ถูกขังในถ้ำ) เป็นต้น
2. ความเชื่อ (belief) และความรู้ที่ได้จากการรับรู้ (perception) ในวัตถุสิ่งนั้น ๆ (เปรียบเทียบได้กับการที่นักโทษได้รับการปล่อยพันธนาการ แล้วถูกบังคับให้ยืนขึ้นทันทีและหันไปจ้องมองแสงสว่างดูความจริงนอกถ้ำ)
ความรู้ระดับ 1 และ 2 เป็นความรู้ที่อาศัยประสาทสัมผัส ซึ่งพลาโตเห็นว่าเป็นเพียงความเห็น หรือทัศนะ ไม่ใช่ความรู้แท้
3. ความเข้าใจ หรือความคิดตามลำดับเหตุผล (discursive intellect) เป็นความรู้ที่แม้จะยังไม่ชัดเจน แจ่มแจ้ง แต่ก็เข้าใจแล้วว่าเป็นสิ่งที่เคยเห็นในลักษณะที่เป็นเงาหรือมายาภาพ ความรู้ระดับนี้ได้แก่ ความรู้ทุกอย่างทางคณิตศาสตร์ ตลอดจนสูตรหรือทฤษฎีบทที่ใช้ในวิชาเรขาคณิต และพีชคณิต
4. การรู้แจ้งด้วยเหตุผล (rational insight) เป็นความรู้ที่มีความแน่นอนสูงสุด ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับ “แบบ” ซึ่งถือเป็นความดีและความจริงที่มนุษย์ควรแสวงหา เป็นความรู้แจ้งด้วยเหตุผลซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายสุดท้าย คือ ความดี (เปรียบได้กับนักโทษที่เข้าใจแล้วว่า “เงา” ไม่ใช่ของจริง พลาโตเห็นว่าคนที่มาถึงความรู้ขั้นนี้จะบรรลุถึงความดี และไม่อยากร่วมกิจกรรมที่คนทั่วไปเห็นว่าสำคัญ
ความรู้ระดับ 3 และ 4 นี้เป็นความรู้แท้ หรือเป็นศาสตร์ ที่ต้องอาศัยปัญญาในการเข้าถึง
ลัทธิเหตุผลนิยม (rationalism)
นักคิดในลัทธิเหตุผลนิยม เชื่อว่า เหตุผลเป็นหนทางเดียวที่นำไปสู่ความรู้ และความรู้เป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาแต่เกิด เป็นความรู้ก่อนประสบการณ์ จึงไม่เชื่อว่าประสบการณ์จะให้ความรู้ที่ถูกต้องแน่นอน เพราะบ่อยครั้งที่ประสาทสัมผัสลวงเรา (seeing is deceiving)
เรอเน เดส์การ์ตส์ (Rene Descartes) ตั้งใจจะพิสูจน์สัจจะทางปรัชญาด้วยการใช้เหตุผล จึงเริ่มต้นวิธีการหาความรู้ด้วยการตั้งข้อสงสัยกับทุกสิ่ง
เขาได้ข้อสรุปว่า ถ้าเขา “สงสัย” ได้ ก็เท่ากับว่า เขาต้อง “คิด” และเพราะ “เขาคิด เขาจึงดำรงอยู่” อย่างที่เขากล่าวเป็นภาษาละตินว่า “Cogito, ergo sum” หรือ “I think, therefore I am.” (ฉันคิด ดังนั้น ฉันจึงมีอยู่)
การที่เดส์การ์ตส์ ตระหนักว่า ตัวเขาเป็น “สิ่งมีชีวิตที่คิดได้” ทำให้เขารู้ด้วยว่าเขาไม่ได้เป็นเพียง “ฉัน” ที่กำลังคิด แต่ฉันที่กำลังคิดนี้จริงแท้กว่าโลกวัตถุที่เรารับรู้ด้วยประสาทสัมผัส
เขาคิดต่อไปว่า มีอะไรอีกหรือไม่ที่สามารถรับรู้ได้ด้วยความแน่นอนที่หยั่งรู้ได้ในใจ (intuitive) แบบนี้ เขาได้ข้อสรุปว่า ในจิตของเขามีความคิดที่ชัดเจน แจ่มแจ้ง ซึ่งมีลักษณะเป็นความจริงที่จำต้องเป็น (necessary truth) เช่น “สิ่งหนึ่งไม่อาจจะอยู่สถานที่สองแห่งในเวลาเดียวกันได้” หรือ “เส้นตรงที่ขนานกันไม่มีวันจะบรรจบกันได้” เป็นต้น
เดส์การ์ตส์ แบ่งความคิดมนุษย์ออกเป็น 3 ประเภท คือ
1. ความคิดที่ได้จากประสบการณ์ภายนอก (Adventitious Ideas)
2. ความคิดที่จิตสร้างขึ้น (Factitious Ideas)
3. ความคิดติดตัว (Innate Ideas) ซึ่งความคิดแบบนี้เขาคิดว่าเป็นความคิด/ความรู้ที่ทุกคนมีเหมือนกันโดยธรรมชาติ ซึ่งเป็นความรู้ก่อนประสบการณ์ที่ชัดเจน แจ่มแจ้ง
เดส์การ์ตส์ แยกชัดเจนระหว่าง จิต กับสสาร เขาเชื่อว่าสองสิ่งนี้เป็นอิสระจากกัน มนุษย์มีสสารคือร่างกายที่เป็นเหมือนเครื่องจักรที่สมบูรณ์แบบ แต่ก็มีจิตที่ทำงานอย่างเป็นอิสระจากกาย มนุษย์จึงมีความสามารถที่อยู่เหนือความต้องการทางกาย และปฏิบัติตนอย่างมีเหตุผล นอกจากนี้เขาเชื่อเหมือนพลาโตที่ว่า จิตวิญญาณกับสสารนั้นแยกจากกันอย่างชัดเจน
ลัทธิประสบการณ์นิยม
หรือ ลัทธิประจักษ์นิยม (empiricism)
ลัทธินี้เชื่อว่า มนุษย์มีความรู้ในความจริงได้ด้วยการอาศัยประสาทสัมผัสเท่านั้น ความรู้จึงเป็นสิ่งแปลกใหม่ และเป็นความรู้หลังประสบการณ์ (A Posteriori) บางครั้งก็เรียกลัทธินี้ว่า ลัทธิประสบการณ์นิยม
จอห์น ล็อค (John Locke) เป็นอีกคนหนึ่งที่มีแนวคิดเช่นนี้ เพราะเขาไม่เชื่อว่าเรามีความรู้เกี่ยวกับโลกมาแต่เกิด เราจะเริ่มมีความรู้เมื่อเรา “เห็น” โลกแล้วเท่านั้น เขาเชื่อว่าการเห็นหรือการมีประสบการณ์มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ
1. ประสบการณ์ภายนอก (sensation) หรือประสาทสัมผัส เป็นความรู้เชิงเดี่ยว คือ ไม่ได้เป็นความรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้นทั้งหมด
2. ประสบการ์ภายใน (reflection) คือการที่สมองนำเอาประสาทสัมผัสเบื้องต้นไปคิดใคร่ครวญ วิเคราะห์ จนกระทั่งสามารถจัดระบบเป็นหน่วยความรู้ที่เรียกว่า มโนทัศน์ (concept) หรือความคิดรวบยอดได้ จากนั้นจึงจะสร้างเป็นความรู้ที่ซับซ้อนได้ต่อไป
จากความคิดจอห์น ล็อค จะเห็นได้ว่าความรู้ใด ๆ ของมนุษย์จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่เคยมีประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสมาก่อน อนึ่ง การที่
ล็อค ปฏิเสธเรื่องความคิดติดตัว เพราะ
1. ถ้าความคิดติดตัวมีจริง ทุกคนก็ต้องมีความคิดติดตัวเท่ากัน แต่ความเป็นจริงไม่ใช่เช่นนั้น คนมีความแตกต่างกัน เรียนหนังสือก็มีได้ มีตก ไม่เท่ากัน
2. ถ้าความคิดติดตัวมีจริง ทุกคนต้องความคิดติดตัวเหมือนกัน เช่น ความคิดเรื่องพระเจ้า แต่ความจริงมีบางคนไม่นับถือพระเจ้า หรือแม้แต่ในกลุ่มที่นับถือพระเจ้าก็ยังมีความเห็นแตกต่างกัน
3. ถ้าคนมีความคิดเหมือนกัน ตรงกัน เช่น โลกกลม ไฟร้อน ก็เป็นเพราะเกิดจากประสบการณ์ ไม่ใช่ความคิดติดตัวที่มีมาก่อนประสบการณ์
4. ความรู้เดิม หรือความรู้ที่เป็นหลักทั่วไป เช่น ทฤษฎี ที่นำมาอ้างอิงตามหลักการอ้างเหตุผล ก็ไม่ใช่ความรู้ที่ติดตัวมาแต่เกิด หากแต่เป็นความคิดที่เกิดจากประสบการณ์ จากข้อเท็จจริงตามประสาทสัมผัส แล้วนำไปสู่ข้อสรุป
ล็อค เสนอว่าเดิมจิตหรือสมองมนุษย์ว่างเปล่า บริสุทธิ์เหมือนกระดาษแผ่นหนึ่ง เรียกว่า Tabula Rasa เมื่อคลอดออกมาก็ได้ข้อมูลจากโลกภายนอก การศึกษาจึงเป็นการ “ให้” และการ “เห็น” โลกภายนอก ซึ่งสิ่งที่เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับนักคิดแนวนี้ก็คือ สสารหรือวัตถุ เพราะเป็นสิ่งที่สามารถใช้ประสาทสัมผัสสำรวจได้โดยตรง
ล็อคเห็นว่าสสารหรือวัตถุ มีคุณสมบัติ 2 อย่าง คือ คุณสมบัติปฐมภูมิ (primary quality) ได้แก่ การกินที่ น้ำหนัก การเคลื่อนที่ จำนวน ซึ่งเขาเห็นว่าคุณสมบัติแบบนี้มนุษย์สามารถรับรู้ได้แน่นอน และคุณสมบัติทุติยภูมิ (secondary quality) เช่น สี เสียง กลิ่น รส ซึ่งแต่ละคนจะรับรู้ไม่ตรงกัน อาจต่างกันไปตาม รสนิยม คุณสมบัติแบบนี้จึงไม่ได้ให้ความรู้ที่แน่นอน
ข้อพิสูจน์ความรู้
ข้อสงสัยประการหนึ่งคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เรารู้นั้นเป็นความจริง? หรือ เอาอะไรมาพิสูจน์ความถูกต้องของความรู้ของเรา? เพราะหากเป็นความรู้ในสิ่งลวงหรือมายาแล้ว ก็จะเป็นความลวง ไม่ใช่ความรู้
ทฤษฎีความตรงกัน
(correspondence theory) หรือ ทฤษฎีความจริงแบบสมนัย
ความตรงกัน หมายถึง ความลงรอยกัน หรือความกลมกลืนกันของความคิดและผลสรุปของการพิจารณาตัดสิน (judgment) เกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ปรากฏให้เห็นในธรรมชาติ เช่น ผลสรุปของการพิจารณาตัดสินว่า “ดอกมะลิมีกลิ่นหอม” จะเป็นจริงก็ต่อเมื่อมีสิ่งที่เรียกว่า ดอกมะลิ จริง และเมื่อดมดูแล้วก็มีกลิ่นหอมจริง
จอร์จ ซานตายานา (George Santayana) นักปรัชญาสัจนิยมเชิงวิจารณ์ (Critical Realism) กล่าวว่า ความจริง ได้แก่ ความตรงกันหรือความลงรอยกันระหว่างสารัตถะหรือแก่นสาร (essence) ของสิ่งที่มีอยู่ กับการมีอยู่ (existence) อันเป็นสภาพที่ปรากฏของสิ่งนั้น ๆ โดยที่สารัตถะ ก็คือ คุณลักษณะที่สำคัญและจำเป็นที่ทำให้สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งอื่น เป็นคุณสมบัติที่ทำให้เรารู้กันเป็นสากลว่าคือสิ่งนั้น เช่น เก้าอี้ ไม่ใช่ โต๊ะ ส่วนการมีอยู่ก็คือ การปรากฏให้เห็นได้ทางประสาทสัมผัส
ทฤษฎีความเชื่อมนัย (coherence theory) หรือ
ทฤษฎีความจริงแบบสหนัย
ความเชื่อมนัย คือ ความสอดคล้องกันเป็นระบบ ระหว่างสิ่งที่เรากำลังประสบ กับความจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์ เช่น ทฤษฎีเรขาคณิตที่ว่าเ มื่อเส้นตรง 2 เส้นตัดกัน มุมตรงกันข้ามย่อมเท่ากัน
ที่เราได้ข้อสรุปว่า “มุม a และมุม b” เท่ากัน เพราะรูปนี้มีความเชื่อมนัยกับทฤษฎีบทที่ว่า “เส้นตรง 2 เส้นตัดกัน มุมตรงข้ามย่อมเท่ากัน” ซึ่งทฤษฎีบทดังกล่าวเป็นความจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์ และเป็นสิ่งที่เรายอมรับกันโดยสากลอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อข้อสรุปใด ๆ สอดคล้องกันความจริงดังกล่าว ก็ย่อมสรุปได้ว่า ข้อสรุปนั้นเป็นความจริง
กล่าวได้ว่า ทฤษฎีความเชื่อมนัยนี้ต้องอาศัยการคิดหาเหตุผลที่ไม่ต้องอาศัยประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส จึงสรุปได้ว่านักเหตุผลนิยมจะยอมรับทฤษฎีนี้
ทฤษฎีการนำไปใช้ (pragmatic theory) หรือ
ทฤษฎีความจริงแบบปฏิบัตินิยม
นักปรัชญาในลัทธิปฏิบัตินิยม ถือว่า ความรู้ใด ๆ ถ้านำไปใช้งานได้ นำไปปฏิบัติได้และให้ผลดี ก็เป็นข้อพิสูจน์ยืนยันความถูกต้องของความรู้นั้น
ทฤษฏีนี้ได้รับการยอรับทั่วไปในวงการอุตสาหกรรมที่มีพื้นฐานอยู่บนแนวคิดของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่ต้องอาศัย “ประสิทธิภาพ” ในการทำงานเป็นสำคัญ
ปัญหาเรื่องความจริงและสิ่งที่เป็นจริง (truth and realtiy)
ทัศนะเกี่ยวกับความจริงและสิ่งที่เป็นจริง
ความจริง (truth)
หรือ “สัจจะ” มีลักษณะเป็นนามธรรม
เมื่อเราพูดถึงความจริงของสิ่งใดสิ่งหนึ่งเรามักหมายถึง หลักการที่มีอยู่แน่นอนมั่นคง
ไม่เปลี่ยนแปลงของสิ่งนั้น เช่น “ชีวิตเป็นทุกข์” “สังขารเป็นของไม่เที่ยง”
“ไม่มีอะไรเกิดจากความว่างเปล่า” ล้วนแต่เป็นการบอก “ความจริง” ทั้งสิ้น
ความจริงเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับความรู้
เพราะเมื่อเราบอกว่าเรามีความรู้ ก็คือเรารู้ความจริงหรือเข้าถึงความจริงของสิ่งที่เป็นจริง (แต่อย่าลืมว่า ความจริงก็มีหลายระดับ) ดังนั้น
การจะเข้าใจว่า สิ่งที่เป็นจริง หรือ reality คืออะไร
และการเข้าถึงสิ่งที่เป็นจริงหรือสิ่งที่มีอยู่จริงนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า
สิ่งที่มีอยู่ (being) ในจักรวาลมีอยู่ 2 สภาวะ คือ
1. สภาวะที่ปรากฏ
(appearance) หรือ มายาภาพ คือ สิ่งที่มนุษย์รับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5
2. สภาวะความเป็นจริง
(reality) หรือ สัจจะภาวะ คือ
สิ่งที่เป็นจริงที่อยู่เบื้องหลังสภาวะที่ปรากฏโดยไม่บิดเบือนหรือผันแปรไปตามการรับรู้ของบุคคล
ดังนั้น การรู้
“ความจริง” ก็คือ การรู้ที่ตรงกับสภาวะความเป็นจริง
ไม่ใช่รู้เพียงสภาวะที่ปรากฏ
การรู้ความจริงของสภาวะความเป็นจริงเท่านั้นที่จะเรียกได้ว่าเป็น “ความรู้”
(ในขณะที่การรู้สภาวะที่ปรากฏ เป็นเพียงการเห็น หรือข้อมูล)
ทัศนะแบบจิตนิยม (idealism)
เป็นแนวคิดที่เชื่อว่าสิ่งที่เป็นความจริงเนื้อแท้นั้น
มิได้มีเพียง สสารหรือวัตถุเท่านั้น หากแต่ยังมี อสสาร (immaterial)
อีกด้วย กล่าวคือ อสสาร เป็นสิ่งไม่กินที่ ไม่กินเวลา อยู่พ้นโลกวัตถุออกไป
มีอยู่ด้วยตนเอง ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ถูกจำกัดด้วยกาละ (time) และเทศะ (space)
เป็นหลักการสำคัญที่ทำให้โลก มนุษย์และสรรพสิ่งมีระบบ ระเบียบ มีกฎเกณฑ์
มีความสม่ำเสมอ
นอกจากนี้สิ่งเหนือธรรมชาติเหนือประสาทสัมผัส
(unseen world) ก็จัดเป็น อสสาร ตามกรอบแนวคิดแบบจิตนิยมด้วย ในขณะที่ ค่านิยม
(values) เช่น ความดี ความงาม ความถูกต้อง ความยุติธรรม ที่ปรากฏอยู่ในโลก
นักจิตนิยมก็เห็นว่ามีต้นกำเนิดอยู่ที่ อสสาร นั่นเอง
ดังนั้น
ทัศนะแบบจิตนิยมจึงท่าทีต่อค่านิยม เช่น ความดี ว่ามีคุณค่าในตัวเอง
แม้ไม่มีใครรู้เห็น คุณค่าเหล่านั้นก็ไม่ได้สูญหายไป
ขณะเดียวกันก็มีท่าทีต่อการแสวงหาความสุขทางกาย ว่าเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์
นักคิดในลัทธิจิตนิยมเห็นว่าโลก
มนุษย์และสรรพสิ่งล้วนแต่ไม่สมบูรณ์ ไม่เที่ยง มีการผันแปรเปลี่ยนแปลงไปตามกาละ
เทศะ แต่ก็ยังมีอีกโลกหนึ่งที่จริง สมบูรณ์ คงอยู่นิรันดร์
ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม ดังเช่น “แบบ” และ “ทฤษฎีแบบ” ของพลาโต (Plato)
ทฤษฎีแบบของพลาโต (Theory of Ideas)
พลาโตเห็นว่า
ยังมีอีกโลกหนึ่งที่เรียกว่า โลกแห่งแบบ (World of Ideas) ที่สมบูรณ์ ดีงาม
จริงแท้ ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่สูญสลาย ไม่ถูกทำลาย ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง
และเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งในโลกมนุษย์ แต่แบบและโลกแห่งแบบนั้น
ไม่อาจสัมผัสหรือรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส เพราะเป็น “อสสาร”
“แบบ” เป็นความจริงสูงสุดในทัศนะของพลาโต
ซึ่งแบบจะอยู่แยกออกไปจากโลกมนุษย์ คือ อยู่ใน โลกแห่งแบบ นั่นเอง
พลาโตเชื่อว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างมีแบบ ซึ่งก็คือลักษณะร่วมทั้งทางคุณภาพและโครงสร้างของสิ่งหนึ่ง
ๆ แบบทำให้เรามีความเข้าใจและคิดถึงสิ่งหนึ่ง ๆ ได้ตรงกัน เช่น “แมว”
แม้ว่าจะมีหลากสีหลายพันธุ์ แต่สิ่งที่ทำให้เราบอกว่าสิ่งมีชีวิตนั้นคือ “แมว”
ก็คือสิ่งที่พลาโตเรียกว่า “แบบ” ของแมว
จึงเห็นว่าแบบของแมวทำให้เราเข้าใจแมวตรงกัน
เราจะเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อเราจะเปรียบเทียบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
เราก็มักจะใช้แบบของสิ่งนั้น ๆ เป็นมาตรฐานในการตัดสิน เช่น
การเปรียบเทียบว่าเสื้อตัวใด “ขาว” กว่ากัน คนที่จะตัดสินได้ก็ต้องมี
“แบบของความขาว” เป็นแบบมาตรฐานอยู่แล้ว
พลาโตยืนยันว่าแบบของแมว
แบบของความขาว แบบของความกลม แบบของคน ฯลฯ ล้วนแต่มีอยู่อย่างแท้จริงในโลกของแบบ
มนุษย์จะรู้จะเข้าใจได้ก็ต้องอาศัยเหตุผลและภูมิปัญญา หากใช้เพียงประสาทสัมผัส
มนุษย์ก็จะรู้เพียงภาพสะท้อนหรือ “เงา” ของความเป็นจริงเท่านั้น กล่าวได้ว่า
พลาโตเสนอปรัชญาของเขาว่า “สรรพสิ่งในโลกมนุษย์เป็นเพียงภาพจำลองของแบบ
หรือภาพสะท้อนของแบบ” แม้ว่าสิ่งเฉพาะในโลกจะสูญหาย/เปลี่ยนแปลงไป
แต่แบบซึ่งเป็นสิ่งสากลยังคงดำรงอยู่ตลอดไป
ทัศนะแบบวัตถุนิยม
(materialism)
ความจริงที่นักวัตถุนิยมเสนอก็คือ
สสารและปรากฏการณ์ของสสารเท่านั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง สิ่งใดไม่สามารถสัมผัส
แตะต้อง มองเห็นได้ สิ่งนั้นไม่มีอยู่จริง
ลักษณะสำคัญ ๆ ของแนวคิดแบบจิตนิยม คือ
1.
สิ่งที่เป็นจริงจะต้องสามารถค้นหาและตรวจสอบได้ด้วยวิธี ปรนัย หรือ ภววิสัย หรือ
วัตถุวิสัย (objective) คือ มีความแน่นอนตายตัว ไม่ขึ้นอยู่กับผู้ค้นหา
(แนวคิดนี้สอดคล้องกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์)
2.
เป็นแบบนิยัตินิยม (determinism) คือ เชื่อว่าทุกเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างมีสาเหตุ
ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นโดยบังเอิญ
3.
ปฏิเสธความจริงในสิ่งเหนือธรรมชาติ ไม่ยอมรับว่า อสสารมีอยู่จริง
4. ยอมรับการทอนลง
(reductionistic) เชื่อว่าทุกสิ่งสามารถทอนหรือย่อยลงจนเป็นสิ่งที่เล็กที่สุดได้
การเข้าใจส่วนย่อยจะทำให้เข้าใจส่วนใหญ่ได้
สรรพสิ่งแตกต่างกันเพียงปริมาณหรือความซับซ้อนของธาตุพื้นฐาน แต่คุณภาพไม่ต่างกัน
5.
เห็นว่าค่านิยมต่าง ๆ เป็นสิ่งสมมติ ความดี ความงาม ไม่มีอยู่จริง
อาจกล่าวได้ว่าความจริง ในทัศนะของนักวัตถุนิยมคือ
ไม่มีอะไรเกิดขึ้นใหม่ ไม่มีอะไรหายไป
มีแต่การเปลี่ยนแปลงจำนวนและถิ่นที่อยู่ของวัตถุหรือสสารเท่านั้น
ทฤษฎีปรมาณู (อะตอม) : atomic theory
เดมอคริตุส
(Democritus) เสนอว่า สรรพสิ่งในโลกสามารถทอนลงไปทีละครึ่ง ๆ
จนถึงสิ่งที่เล็กที่สุดซึ่งไม่สามารถแบ่งแยกต่อไปได้
สิ่งนั้นถือเป็นความจริงสูงสุด มีลักษณะเป็นวัตถุหรือสสาร ที่เรียกว่า ปรมาณู หรือ
“อะตอม” (atom)
อะตอมเป็นมวลที่มีความอิ่มตัวเต็มที่
ไม่สามารถสร้างหรือทำลายลงได้
มีพลังขับเคลื่อนในตัวเองซึ่งขึ้นอยู่กับกฎของจักรกลอันเป็นธรรมชาติในตัวอะตอมเอง
ทุกสิ่งทุกอย่างจึงเป็นไปตามกฎจักรกล
(mechanical law) ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นโดยไร้เหตุผล
สรรพสิ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัยและความจำเป็น เนื่องจากโลกและสรรพสิ่งเกิดขึ้น
ดำรงอยู่และดำเนินไปอย่างไม่มีจุดมุ่งหมาย ไม่มีเจตจำนงเสรี
แต่เป็นไปตามแรงผลักดันจากกฎของสสารและการเคลื่อนที่
ทำให้เราไม่สามารถตั้งคำถามได้ว่าโลกเกิดมาเพื่ออะไร
จุดมุ่งหมายสูงสุดของมนุษยคืออะไร เป็นต้น
แต่เราก็ไม่อาจเรียก
เดมอคริตุส ว่าเป็นนักวัตถุนิยมได้อย่างสมบูรณ์นัก เพราะแม้อะตอมจะเป็นสสาร
แต่วิธีการเข้าถึงความจริงนั้นไม่สามารถกระทำได้ด้วยประสาทสัมผัส
แต่ทำได้ด้วยการใช้ชีวิตให้เป็นหนึ่งเดียวกับกฎธรรมชาติซึ่งเป็นกฎเหตุผล
การใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับเหตุผลจะทำให้เรารู้ว่าความสุขที่แท้จริงนั้นเป็นความสุขภายในที่ไม่อิงอาศัยวัตถุภายนอกใด
ๆ
ทฤษฎีอะตอมไม่ได้รับความนิยมมากนัก
เพราะประชาชนสมัยกรีกให้ความสนใจปัญหาเรื่องการมีชีวิตที่ดีและการดำรงอยู่ในสังคมตามแนวคิดของปรัชญาอย่างโสคราติส
เพลโตและอริสโตเติล มากกว่า รวมทั้งตลอดสมัยกลางของยุโรป ปรัชญาก็วนเวียนอยู่ที่เรื่องของพระเจ้าและประสบการณ์ทางศาสนาที่อาศัยความศรัทธาและการค้นพบทางจิตวิญญาณตามแนวของศาสนาคริสต์เป็นหลัก
กล่าวได้ว่าสมัยกลางก็ไม่ได้สนใจปรัชญาวัตถุนิยมเท่าที่ควรเช่นกัน
จนกระทั่ง ศตวรรษที่
16 - 17 เกิดในปฏิวัติในวิชาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ โดยเฉพาะการค้นพบว่าโลกไม่ใช่ศูนย์กลางของเอกภพ
การค้นพบดังกล่าวเป็นการลดความสำคัญของมนุษย์ในแนวคิดของศาสนาคริสต์อย่างมาก
นอกจากนี้การค้นพบทางวิทยาศาสตร์หลาย ๆ ครั้งทำให้ผู้คนเห็นคล้อยตามว่าธรรมชาติก็คือระบบจักรวาล
สรรพสิ่งสามารถแยกออกมาเป็นส่วนย่อย ๆ แล้วศึกษาหาความจริงจากคุณสมบัติย่อย ๆ
เหล่านั้น
นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสคือ
เรอเน เดส์การ์ตส์ (Rene Descartes) พยายามแบ่งอาณาจักรสองอาณาจักร คือ จิตใจ(ซึ่งเป็นตัวคิด)
กับ วัตถุ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกคิด) เป็นสองสิ่งที่เป็นอิสระแยกขาดจากกัน
เดส์การ์ตส์ เป็นผู้ทำให้มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
จิตกับกาย ผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ อารมณ์กับเหตุผล
เป็นสองสิ่งที่แยกจากกันอย่างชัดเจนมากขึ้น
ขณะเดียวกัน
นักปรัชญาชาวอังกฤษ คือ โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes)
เห็นว่าวัตถุเท่านั้นที่เป็นสิ่งจริงขั้นสุดท้าย ทุกสิ่งทุกอย่างคือวัตถุ
ภาวะของจิตก็คือภาวะของสมอง (Mental states were brain states)
ปรากฏการณ์ทางจิตวิญญาณเป็นเพียงการแสดงออกของวัตถุ
โลกคือเครื่องจักร
เมื่อการปฏิวัติวิทยาศาสตร์
รวมเข้ากับแนวคิดในสมัยภูมิธรรม ที่เชื่อในกระบวนการใช้เหตุผล
ที่เมื่อผนวกกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ได้นำโลกเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์
(paradigm = การเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงแก่นในทางความคิดความเชื่อ ความรู้
การปฏิบัติ และการให้คุณค่าต่าง ๆ) ที่สามารถสรุปได้ดังนี้
1. เกิดความเชื่อว่า
วิธีการทางวิทยาศาสตร์และเหตุผลเท่านั้นที่จะทำให้เรารู้ถึงความเป็นจริงหรือสิ่งที่มีอยู่จริงได้
2.
มองจักรวาลว่าเป็นระบบกลไกที่แยกออกเป็นส่วนย่อย ๆ ได้
แต่ละส่วนเป็นวัตถุที่ไม่สามารถแยกย่อยได้อีก (ยอมรับแนวคิดแบบ ปรมาณูนิยม -
atomism และจักรกลนิยม - mechanism)
3.
มองชีวิตและสังคมว่า การต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ผู้แข็งแรงคือผู้ชนะ
ผู้ชนะจะเป็นผู้ได้ครอบครอง (the winner takes all)
4. เกิดความเชื่อและความศรัทธาในความก้าวหน้าทางวัตถุอย่างไม่สิ้นสุด
และเชื่อมั่นว่าความสุขเกิดขึ้นได้เมื่อมีวัตถุเพียบพร้อม
เศรษฐกิจและเทคโนโลยีจึงเป็นทั้งเครื่องมือและเป้าหมายของชีวิตมนุษย์ในเวลาเดียวกัน
5.
เกิดแนวคิดเอาชนะธรรมชาติ มนุษย์เป็นนายธรรมชาติ และเป็นศูนย์กลางจักรวาล
ทุกสิ่งในจักรวาลมิได้มีค่าในตัวเอง แต่ต้องดำรงอยู่เพื่อการพัฒนาของมนุษย์
ด้วยเหตุนี้โลกจึงถูกมองว่าเป็นเครื่องจักร
ที่เกิดขึ้นและทำงานไปอย่างไม่มีจุดมุ่งหมาย
แต่เป็นไปตามระบบและกลไกของเครื่องจักรที่ต้องดำเนินไปอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง
ความเป็นไปของชิ้นส่วนแต่ละชิ้นเกิดจากแรงผลักภายนอก
หรือสาเหตุภายนอก
ไม่ใช่เกิดจากเจตนาของชิ้นส่วนแต่ละชิ้นที่ต้องการให้เกิดความเป็นไปต่าง ๆ
นักปรัชญาจักรกลนิยมเชื่อว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง
“เป็น” อย่างที่มัน “ต้องเป็น” ตามจังหวะ ตามระบบจักรกล
ไม่มีอะไรเกิดขึ้นโดยบังเอิญ
แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมีความจงใจหรือมีเจตนาไม่มีการตัดสินใจอย่างเสรี
แนวคิดจักรกลนิยมปฏิเสธเจตจำนงเสรี
(free will) ซึ่งมีนัยสำคัญต่อเรื่องจริยธรรม
เพราะความรับผิดชอบทางจริยธรรมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อการกระทำนั้นเกิดจากการตัดสินใจเลือกอย่างเสรี
หากเกิดข้อผิดพลาดเพราะมีเจตนาหรือไม่มีการเลือกด้วยตัวเองแล้ว
ก็มักจะปฏิเสธความรับผิดชอบ แล้วโยนความรับผิดชอบนั้นไปให้ระบบหรือสาเหตุภายนอก
เช่น สังคม เพื่อน พ่อแม่ ครูอาจารย์ รัฐบาล เศรษฐกิจ ดินฟ้าอากาศ ผีสางเทวดา
หรือแม้แต่ IMF แต่สิ่งที่ไม่ต้องรับโทษและความผิดก็คือ ตัวเอง
ทัศนะแบบลัทธิองค์รวม
(holism)
ภาวะองค์รวม หรือโลกทัศน์แบบองค์รวม
(Holistic View of Universe) เป็นวิธีการมองความเป็นจริงแบบบูรณาการ มองที่ทั้งหมด
(the whole) แยกออกจากกันไม่ได้ ปรากฏการณ์ทุกอย่างทุกด้านล้วนมีความเชื่อมโยงกัน
เป็นเหตุ-ปัจจัยแก่กัน
ลัทธิเต๋า (Taoism)
“เต๋าที่สามารถนำมาเล่าขานได้นั้นยังไม่ใช่เต๋าซึ่งเป็นอมตะ
สิ่งที่ยังมีการเรียกขานนามได้ยังไม่ใช่นามอมตะ นิรนาม
นั้นเป็นรากฐานแห่งสวรรค์และดิน การเกิดมีนามขึ้น จึงเป็นมารดาของสิ่งทั้งหลาย
ดังนั้น ขอให้มีแต่สิ่งที่ไม่มี (non-being) เถิด
เพื่อเราจะได้เห็นความละเอียดของมัน ขอให้มีสิ่งที่มี (being)
เพื่อเราจะได้เห็นผลของมัน ทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งเดียวกัน…”
แนวคิดในคัมภีร์เต๋า-เต๋อ-จิง
(Tao Te Ching) บอกความสำคัญของ เต๋า ว่าเป็นสิ่งอมตะ ไม่มีนามเรียกขาน(นิรนาม)
เต๋าคือความว่าง(ว่างจากความเป็น) นาม(สมมติบัญญัติ) เป็นสิ่งปรุงแต่ง
หาความจริงไม่ได้ เราไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ไม่ควรแบ่งแยกความแตกต่าง เพราะเต๋าคือเอกภาวะ
หรือเอกภาพระหว่างสิ่งที่มีอยู่กับสิ่งที่ไม่มีอยู่
รวมกันเป็นหนึ่งเดียวกับเต๋าจะปราศจากการแบ่งแยก ไม่เกิดสภาพที่เรียกว่า ทิวภาวะ
(dualism)
เต๋าเชื่อในพลวัต
(dynamic) ระหว่างภาวะสองอย่างที่ไม่เหมือนกัน คือ หยิน (Yin) กับ หยาง (Yang)
ที่รวมตัวกันทำให้เกิดเอกภาพ
แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่เหมือนกันแต่รวมตัวอยู่ในสิ่งเดียวกัน
เมื่อมีการแบ่งแยก
เต๋าจึงไม่มีคำว่ากำไร-ขาดทุน ไม่มีเกียรติหรือความอับอาย ไม่มีความสมหวัง-ผิดหวัง
ขณะเดียว กันเต๋ายินดีในความธรรมดา และยึดหลัก “อกรรม” หรือ หวู่เว่ย
(Wu-Wei) คือปล่อยให้ธรรมเป็นผู้ทำเอง
เต๋าจึงพอใจที่จะอยู่กลมกลืนกับวิถีธรรมชาติมากกว่า
พุทธปรัชญา
คำสอนในศาสนาพุทธมีอยู่ว่า
สรรพสิ่งประกอบด้วย รูปกับนาม
จิตกับกาย และหลักการของ “อิทัปปจัยตา”
หรือหลักที่ว่าทุกสิ่งเป็นไปเช่นนั้นเอง เป็นธรรมดาของโลก
ขณะที่โลกเคลื่อนที่ไปด้วยเหตุผลที่พอจะอธิบายได้
แต่ก็เกินกว่าความสามารถทางเหตุผลที่จะอธิบายได้ “ผู้รู้ย่อมเข้าใจและปล่อยวาง”
ควอนตัมฟิสิกส์ (quantum
physics)
นักฟิสิกส์พบสัจธรรมว่า
“ควาร์ก” (quark) ซึ่งเป็นสารก่อนอนุภาคนั้น
มีภาวะสลับไปมาระหว่างมวลสารที่หาตัวตนได้ กับภาวะที่ไม่มีมวลจึงทำให้หาตัวตนไม่พบ
เปลี่ยนแปลงระหว่างความมีกับความไม่มี จนทำให้เกิดเป็นทฤษฎีไร้ระบบ
(Chaos) หรือความไม่แน่นอนของสรรพสิ่งในจักรวาล
ทฤษฎีไร้ระเบียบ
ยอมรับปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Butterfly Effect คือ สิ่งเล็ก ๆ ที่ดูไร้ความหมาย
สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ได้
หรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในจุดที่ห่างไกล ที่ดูเผิน ๆ แล้วเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน
แนวคิดแบบองค์รวมจะไม่สามารถมองและเข้าใจได้ว่า
สิ่งแวดล้อมทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตแยกออกจากมนุษย์ และไม่คิดว่ามนุษย์แต่ละคน
แต่ละครอบครัว แต่ละเผ่าพันธุ์ แต่ละภูมิภาค แต่ละประเทศ หรือแต่ละเชื้อชาติ
แยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด
โลกในทัศนะแบบองค์รวมจึงเป็นความสัมพันธ์และการผสานเข้าด้วยกันของสรรพสิ่ง
ระบบต่าง ๆ คือองค์รวมที่ผสานเป็นหนึ่งเดียว การมองโลกต้องมองทั้งหมด
เพราะความเป็นจริงทั้งหมดของสิ่งใด ย่อมมีคุณสมบัติพิเศษสำคัญเฉพาะตน ซึ่งไม่อาจเข้าใจได้หากจะแยกออกเป็นหน่วยย่อยแล้วศึกษา
กล่าวได้ว่ากระบวนทัศน์แบบนี้เป็นวัฒนธรรมอุดมคติ
ก่อให้เกิดความสมดุล ความประสานสอดคล้องกันในทางศิลปะ ปรัชญา
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
กระบวนทัศน์แบบองค์รวม
พบได้ในปรัชญามนุษยนิยมใหม่ (Neo-Humanism) นิเวศเชิงลึก (deep ecology)
ที่มีลักษณะสอดคล้องกับปรัชญาพุทธศาสนา ปรัชญาฮินดู ปรัชญาเต๋า
และที่รู้จักกันมากในปัจจุบันก็คือ วิถีชีวิตแบบธรรมชาติบำบัด
แต่น้อยคนนักจะเข้าใจว่าเนื้อหาจริง ๆ ของแนวคิดและวิถีชีวิตดังกล่าวคืออะไร
ส่วนมากมักจะติดอยู่ที่รูปแบบ (การดื่มน้ำ RC ปฏิเสธอาหารขยะ
การออกกำลังกายด้วยวัสดุอุปกรณ์และท่าทางต่าง ๆ การดื่มน้ำผัก-ผลไม้ เท่านั้น)
ในแง่อภิปรัชญา “ชีวจิต” เชื่อว่ามนุษย์มีกาย-ใจ(จิตวิญญาณ)
เป็นหนึ่งเดียวกัน การดำรงอยู่จึงต้องทำให้กาย-ใจพัฒนาไปพร้อมกัน ฝึกคิดในแง่บวก มองโลกในแง่ดี และการฝึกจิต เช่น
การทำสมาธิ ฝึกโยคะ ซึ่งถือเป็นการให้อาหารใจ ซึ่งมีความสำคัญพอ ๆ
กับการให้อาหารกาย
ทัศนะแบบปฏิบัตินิยม (pragmatism)
เป็นปรัชญาร่วมสมัยของอเมริกา
ผู้นำคนสำคัญของทัศนะแบบนี้คือ วิลเลียม เจมส์ (William James) ซี.ดี. เพิร์ซ (C.D. Peirce)
และ จอห์น ดิวอี้ (John Dewey)
แนวคิดแบบนี้มักจะไม่ได้รับการกล่าวถึงบ่อยนัก
แต่ก็เป็นการมองความจริงและสิ่งที่มีอยู่จริงในอีกแง่มุมหนึ่ง แนวคิดนี้เห็นว่าไม่มีสิ่งจริงแท้สูงสุดที่เป็นสากล
หากแต่สิ่งจริงแท้มีอยู่มากมาย (Pluralistic) และเราสามารถยืนยันความจริงได้จากการปฏิบัติ
ฉะนั้นความรู้ในสิ่งใดจึงต้องเป็นความรู้ที่ปฏิบัติได้และให้ผลดี
ทัศนะแบบ “ความรู้เพื่อความรู้”
อาจใช้ไม่ได้กับนักปรัชญาแนวปฏิบัตินิยม เพราะเขาไม่สนใจแสวงหาความจริง
ทางอภิปรัชญาเพียงเพื่อให้รู้และเข้าใจเท่านั้น หากแต่จะสนใจในสิ่งที่เป็นจริงในปัจจุบันที่สามารถตรวจสอบได้ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์
และที่สำคัญ สิ่งนั้นต้องสามารถนำไปสู่ผลทางการปฏิบัติได้
นักคิดกลุ่มนี้ไม่สนใจที่จะถกเถียง
โต้แย้งเพียงเพื่อให้รู้ว่าความจริงสูงสุดเป็นจิตหรือวัตถุ เพราะการรู้เหล่านั้นไม่มีอะไรใหม่และไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด
ๆ
วิลเลียม เจมส์
ให้คำนิยามคำว่า ปฏิบัตินิยม ว่า “คือ ทัศนคติที่ไม่แยแสต่อสิ่งที่เป็นปฐม สิ่งที่เป็นหลักการ ประเภท
หรือความจำเป็นที่คาดหมายกัน หากแต่ให้ความสนใจในสิ่งสุดท้าย ผล
สิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องและข้อเท็จจริง”
ลัทธินี้เป็นปฏิกริยา (reaction)
ต่อระบบปรัชญาเก่า 2 ระบบ คือ วัตถุนิยม และ จิตนิยม ที่มัวแต่ถกเถียงเรื่องสิ่งสากล
สิ่งสมบูรณ์ ที่ไร้ความหมาย
เพราะเห็นว่าแม้ถกเถียงกันไปก็ได้เพียงข้อมูลที่ไม่มีความหมายอะไร
หากไม่สามารถนำไปสู่ผลทางการปฏิบัติได้อย่างจริงจังและมีประสิทธิผล
กล่าวได้ว่า ปรัชญาปฏิบัตินิยม
เป็นปรัชญาของคนเดินถนน เพราะเกิดขึ้นจากการตระหนักในปัญหาสังคมและปัญหาจริยธรรม
เกี่ยวข้องกับความพยายามจะแก้ปัญหาของมนุษย์ในสังคม
ไม่ใช่ปรัชญาแห่งท้องฟ้าและดวงดาว
ไม่ใช่ปรัชญาที่จะตอบสนองความต้องการทางปัญญาอันบริสุทธิ์ ดังที่ จอห์น ดิวอี้
กล่าวว่า “ปรัชญาหรือแนวคิดใด
ๆ จะมีค่าก็ต่อเมื่อสามารถช่วยผู้คนแก้ปัญหาสังคมและจริยธรรมของเขาได้”
ปัญหาปรัชญาจึงมิได้อยู่ที่ว่า
“ความจริงคืออะไร
สิ่งใดคือสิ่งที่เป็นจริงสูงสุด เราจะรู้จักโลกที่เป็นจริงได้อย่างไร” แต่ปัญหาของนักปรัชญาปฏิบัตินิยมคือ “เราจะเรียนรู้วิธีที่จะควบคุมและสร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาใหม่และใช้มันให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร?”
มากกว่า
เป้าหมายของชีวิต : มาร์กซ์ กับ พระพุทธเจ้า
แนวคิดของคาร์ล
มาร์กซ์ (Karl
Marx)
มาร์กซ์เสนอว่า สิ่งที่เราเห็นว่า “มีค่า” ในชีวิตนั้น
ไม่ได้มาจากการเลือกของเราเอง
แต่กลับมาจากระบบเศรษฐกิจที่ครอบงำชีวิตของเราต่างหาก นอกจากนี้
มาร์กซ์ยังเห็นว่าสิ่งที่ทำให้เรามี “ความสุข” นั้นเป็นผลมาจากแนวคิดแบบทุนนิยม
(capitalism) ดังนั้น เขาจึงอ้างว่าทุนนิยมกระตุ้นให้แต่ละคนมีมุมมองต่อเป้าหมายของชีวิตที่ต่างกันออกไป
มาร์กซ์ยังเชื่อว่าไม่มีใครจะเข้าถึงความสุขแบบทุนนิยมนั้นได้อย่างแท้จริง
อีกทั้งทุนนิยมยังทำให้มนุษย์ใช้ชีวิตในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับจิตวิญญาณของมนุษย์
มีประเด็นที่น่าคิดอยู่ว่า
หากมาร์กซ์คิดถูก ก็ย่อมส่งผลกระทบสำคัญต่อแนวทางในการดำเนินชีวิต
และการกำหนดเป้าหมายของชีวิตสำหรับมนุษย์ทุกคน
ตามความคิดของมาร์กซ์ ค่านิยมที่ทุนนิยม “พร่ำสอน” ให้กับมนุษย์
ไม่ว่าจะเป็น การแข่งขัน (competition) ความไม่เท่าเทียม (inequality)
ความมั่งคั่งทางวัตถุ (material wealth) ฯลฯ ไม่ได้นำมนุษย์ไปสู่การมี “ความสุข”
ได้
นอกจากนี้มาร์กซ์ยังเห็นว่าทุนนิยมทำให้เกิดงานแบบ “แรงงานแปลกแยก”
(alienated labor) หรือ “อัญภาวะ” (alienation) ขึ้นมา กล่าวคือ
ทุนนิยมทำให้แรงงานกลายเป็นสิ่งแปลกแยกจากผลผลิตที่เกิดขึ้น แปลกแยกจากกระบวนการผลิต
แปลกแยกจากธรรมชาติเดิม และแปลกแยกจากคนอื่น ๆ นั้น
ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจและยังผิดไปจากธรรมชาติของมนุษย์อีกด้วย
การผลิตในระบบทุนนิยมนั้น ผลผลิตซึ่งเกิดจากแรงงานของชนชั้นกรรมาชีพ
ที่จริงแล้วก็คือตัวของเขาองที่อยู่ในสภาพวัตถุ แต่ผลผลิตที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นอื่น
คือตกเป็นของนายทุน และ(ผลผลิตนั้น)กลับมามีอำนาจเหนือชนชั้นกรรมาชีพเอง
เพราะความสัมพันธ์ระหว่างนายทุนกับชนชั้นกรรมาชีพเป็นไปในลักษณะที่กิจกรรมการผลิตผูกมัดชนชั้นกรรมาชีพให้อยู่ในอำนาจของนายทุน
และการผลิตยังเป็นกิจกรรมที่บังคับให้ชนชั้นกรรมาชีพต้องผลิตเพื่อให้ผลผลิตกลายเป็นของนายทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แนวคิดของพุทธศาสนา
ในขณะที่หลายคนสงสัยว่าเราจำเป็นต้องมีความสุขเพื่อทำให้ชีวิตการทำงานของเราประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น
พุทธศาสนาได้ให้มุมมองอีกด้านหนึ่งเกี่ยวกับเป้าหมายของชีวิตที่น่าจะชัดเจนหรือแน่นอนกว่าแนวคิดของมาร์กซ์ที่เราได้ศึกษามาก่อนหน้านี้
ความแตกต่างบางประการระหว่างความคิดตะวันออกกับความคิดตะวันตก
1. ศาสนาและปรัชญาตะวันออกไม่ได้แยกกันอย่างชัดเจนเหมือนอย่างตะวันตก
ดังนั้น นักคิดตะวันออกจึงอยู่ในรูปของศาสดาของศาสนา และแนวคิดตะวันออกก็รวมการค้นหาทางจิตวิญญาณเข้ากับการแสวงหาคำตอบทางปรัชญาไปพร้อมกัน
2. ศาสนาตะวันออกมีแนวคิดเกี่ยวกับพระเจ้าที่ยืดหยุ่นกว่าตะวันตก
เพราะไม่ได้ยึดอยู่ที่พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ที่สร้างโลกและลิขิตความเป็นไปต่าง ๆ
ขณะเดียวกันศาสนาตะวันออกให้ความสำคัญกับพลังจักรวาล
โดยเฉพาะศาสนาพุทธนั้นเห็นว่าชีวิตของเราเป็นส่วนหนึ่งของการแสวงหาและการพัฒนาศักยภาพของจิตวิญญาณเพื่อการรู้แจ้ง(ตรัสรู้)ในอนาคต และเมื่อเราไปถึงจุดนั้นได้
เราก็ไม่จำเป็นต้องกลับไปมีชีวิตอีกต่อไป
คำสอนสำคัญในศาสนาพุทธ
เป้าหมายของชีวิตในศาสนาพุทธนั้นเป็นการยกระดับจิตวิญญาณเพื่อให้พ้นจากวัฏสงสาร
(การเวียนว่ายตายเกิด)
โดยหลักสำคัญอยู่ในคำสอนเกี่ยวกับ “อริยสัจสี่”
และ “มรรคแปด”
สัจจะในศาสนาพุทธเริ่มต้นด้วยการยอมรับว่าชีวิตนี้เป็น
“ทุกข์” จากนั้นจึงพยายามค้นหาสาเหตุของทุกข์และวิธีการในการดับทุกข์นั้น ๆ
เปรียบเทียบศาสนาพุทธกับแนวคิดตะวันตก
1.
ความแตกต่างที่สำคัญที่สุดระหว่างศาสนาพุทธกับปรัชญาตะวันตก คือ
การที่ศาสนาพุทธไม่เน้นที่พระผู้เป็นเจ้าซึ่งสามารถลงโทษหรือลิขิตความเป็นไปในชีวิตของบุคคลใด
ๆ
2. ศาสนาพุทธค่อนข้างจะเปิดกว้างกว่าปรัชญาตะวันตก
เพราะไม่มีการอ้างว่ามี “ความศรัทธาที่ถูกต้อง” เพียงอย่างเดียว
(เปรียบเทียบกับศาสนาคริสต์-คาทอลิก และศาสนาอิสลาม)
3. ปรัชญาตะวันตกเน้นหลักเหตุผล
การวิเคราะห์ และข้ออ้างต่าง ๆ แต่ศาสนาพุทธเน้นที่การทำสมาธิ
ซึ่งเป็นการฝึกจิตของมนุษย์ให้ค้นหาความจริงของชีวิต
4. ปรัชญาตะวันตกเชื่อว่าแม้ว่าร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใด
แต่ “ตัวตน” (self) ของมนุษย์ยังคงดำรงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง
ส่วนศาสนาพุทธปฏิเสธหลักการนั้น
แล้วเสนอว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนอยู่ภายใต้กฎของการเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบของร่างกาย (ขันธ์ห้า = รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)
ต่างก็มี “กรรม” เป็นเครื่องกำหนดความเป็นไปทั้งสิ้น
5. วัฒนธรรมตะวันตกเน้นสิ่งที่เป็นวัตถุนิยม ปัจเจกนิยม
และมุมมองทางโลก รวมถึงความสุขที่ได้มาจากความร่ำรวย อำนาจ การยกย่องเชิดชู
และความสำเร็จของส่วนบุคคล แต่ศาสนาพุทธกลับเน้นที่จิตวิญญาณและการเห็นประโยชน์ของผู้อื่นเป็นที่ตั้ง
พุทธศาสนาเสนอว่า
มนุษย์ควรใช้ชีวิตด้วยจิตใจที่เปิดกว้าง
มีความเวทนาสงสารและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
ความสุขซึ่งวัฒนธรรมตะวันตกเน้นว่าเกิดขึ้นเมื่อความปรารถนาได้รับการสนองตอบนั้น
สำหรับศาสนาพุทธกลับเน้นว่าความสุขเกิดจากการลดความปรารถนา เป้าหมายของชีวิตก็คือ การพัฒนาจิตใจไม่ใช่การยึดติดกับวัตถุ
นั่นเอง
#google.com#เรียนกับอ.ไชยัน# แปะไว้กันลืม
ข้อมูลสรุปจากการสอนของอ.จักรฤทธิ์ อุทโธ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี