วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2561

โครงการ “เดินตามรอยพ่อ วิถีพอเพียง เพื่อสุขเพียงพอ”



๑.ชื่อโครงการ     โครงการ “เดินตามรอยพ่อ วิถีพอเพียง เพื่อสุขเพียงพอ”
๒.หลักการและเหตุ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.๙) ได้พระราชทานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้คนไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ความว่า "การพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อพื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด ดังเห็นได้ที่อารยประเทศหลายประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอยู่ในเวลานี้..."
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่รัฐกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทาง การดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า ๒๕ ปี เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็นโดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤติ เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนาคุณลักษณะ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน ในปัจจุบันมีประชาชนนำมาปฏิบัติเกิดผลจำนวนมาก มีการก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เช่น ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงทุ่งรังทอง และ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอาจารย์เพิ่มศักดิ์ เพื่อทำการถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่ประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจดูแปลงเกษตรผสมผสาน การปลูกพืชเชิงซ้อน การทำปุ๋ยชีวภาพ และเทคนิคการปลูกพืชที่มีประสิทธิผลมากขึ้น
ตาม พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.๒๕๓๗ แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๕๒ มาตรา ๖๘ (๗) องค์การบริหารส่วนตำบล มีอำนาจหน้าที่ บำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎร และแผนพัฒนาสามปี (๒๕๖๐-๒๕๖๒) ยุทธศาสตร์การพัฒนาการส่งเสริมคุณภาพชีวิต แนวทางด้านการส่งเสริมอาชีพ การส่งเสริมการลงทุนและพาณิชกรรม โครงการส่งเสริม/สนับสนุนการเกษตรตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ดังนั้น องค์การบริหารส่วนตำบลชัยบุรี ได้เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ตำบลชัยบุรี จึงได้จัดทำโครงการเดินตามรอยพ่อ วิถีพอเพียง เพื่อสุขเพียงพอ ให้กับประชาชนทั่วไป โดยจะพาผู้เข้าอบรมไปศึกษาแปลงสาธิต ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงทุ่งรังทอง และ อาจารย์เพิ่มศักดิ์ เพื่อเป็นการศึกษาดูงาน เกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการนำไปปฏิบัติจริง ได้นำความรู้มาเป็นแนวทางในชีวิตประจำวันและ มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
๓. วัตถุประสงค์
          ๒. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ศึกษาดูงานแปลงเกษตรผสมผสาน 
          ๓. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปดำเนินชีวิต 
          ๔. เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานรากของประชาชนในตำบลชัยบุรี
๔.  เป้าหมาย
          ประชาชนในตำบลชัยบุรี  จำนวน ๔๐ คน เจ้าหน้าที่ประสานงานจำนวน ๒ คน
๕.ระยะเวลาการดำเนินงาน
          ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๐
๖.  วิธีการดำเนินการ                                                               
          ๖.๑.  ประชุมปรึกษาหารือการจัดทำโครงการ
          ๖.๒.  เสนอโครงการขออนุมัติ
          ๖.๓   จัดซื้อจัดจ้างตามรายละเอียดโครงการ
          ๖.๔   จัดทำฝึกอบรม ตามกำหนดการ 
          ๖.๕   สรุปผลโครงการเสนอให้องค์การบริหารส่วนตำบลชัยบุรี
๗.  สถานที่ดำเนินการ
          ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงทุ่งรังทอง และ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอาจารย์เพิ่มศักดิ์ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๘.  งบประมาณ
ตามข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๐ แผนงานการเกษตร งานส่งเสริมการเกษตร หมวดค่าใช้สอย ประเภทรายจ่ายเกี่ยวเนื่องการปฏิบัติราชการที่ไม่เข้าลักษณะรายจ่ายหมวดอื่น ๆ รายการโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน ๒๕,๐๐๐ บาท และบัญชีโอนงบประมาณครั้งที่ ๘ เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ โอนเพิ่ม ๑๐,๐๐๐ บาทรวม งบประมาณตั้งไว้ ๓๕,๐๐๐ บาท 

๙. ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
                       ๙.๑  ประชาชนได้รับความรู้เกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง 
                        ๙.๒  ประชาชนได้รับความรู้เกี่ยวกับเกษตรผสมผสาน
                        ๙.๓  ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างมีความสุข
๑๐.  ผู้รับผิดชอบโครงการ
                   สำนักปลัด องค์การบริหารส่วนตำบลชัยบุรี
๑๑.การประเมินผล
          ประเมินผลโดยทำแบบสอบถามความพึงพอใจของประชาชนต่อการจัดทำโครงการ จำนวน ๔๐ ชุด
                                                                                     
๑๒.ผู้เสนอโครงการ

                                                                             (ลงชื่อ)( นายธนกร ลิ่มวงศ์ ) ผู้เขียนโครงการ       
                                                                                            นักพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ                 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น