วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2561

พัฒนาการของทฤษฎีการเรียนรู้

พัฒนาการของทฤษฎีการเรียนรู้
หากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์เราจะเห็นว่าแหล่งที่มาของความรู้ที่มนุษย์ได้รับนั้นมีอยู่
หลายแหล่งด้วยกัน ในยุคแรกนิทานพื้นบ้านและความเชื่อต่าง ๆ เป็นที่มาของความรู้ นิทานพื้นบ้าน
ที่เล่าสืบกันในหมู่ชนต่าง ๆ นั้นจะแฝงไว้ด้วยวัฒนธรรม ประเพณี สภาพการดำเนินชีวิตต่าง ๆ ของชุมชน
สุภาษิตและคำพังเพยที่สรุปจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นให้แนวคิดและหลักการในการดำเนินชีวิต เช่น
น้ำขึ้นให้รีบตักช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม เป็นต้น ความรู้จากนิทานพื้นบ้านได้แพร่จากที่แห่งหนึ่งไปยังที่อีกแห่งหนึ่ง
ได้ด้วยการเล่าสืบกันต่อมาจากนักเดินทาง และนักเล่านิทาน อย่างไรก็ดีปัญหาของการแปลความจาก
แหล่งความรู้เหล่านี้เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิตนั้นมีได้หลากหลายแนวทางซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับ
เพราะยังขาดกระบวนการในการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบหรือที่เรียกว่ากระบวนการแสวงหาความรู้
ความจริง ในยุคเริ่มต้นของการมีอารยธรรม เช่น ในยุคกรีกโบราณ มนุษย์พยายามหาคำอธิบาย
ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ เช่น การเกิดทะเล พายุ ฟ้าร้อง ตลอดจนถึงพฤติกรรมต่าง ๆ
ของมนุษย์ว่าเกิดจากการกระทำของเทพเจ้าโปซิดอน เป็นต้น แต่คำอธิบายที่มาจากความเชื่อก็ไม่สามารถ
ทำให้โลกพัฒนาความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
ดังนั้นในยุคต่อมาก่อนที่วิทยาศาสตร์จะเจริญก้าวหน้านั้นจึงได้มีกระบวนการในการแสวงหาความจริง
ที่เรียกว่า ปรัชญาหรือระบบการคิดเชิงตรรกะเข้ามาอธิบายให้ความหมายของธรรมชาติและความจริง
เช่น ความพยายามที่จะตอบคำถามว่า ความจริงคืออะไร ความรู้คืออะไร การรู้ หมายความว่าอย่างไร
ธรรมชาติของความจริงเป็นสิ่งที่คงที่ แน่นอนหรือไม่ ในยุคกำเนิดของปรัชญานี้ มนุษย์พยายามแสวงหา
ความจริงของโลกภายนอกหรือธรรมชาติ และโลกภายในคือความจริงของแต่ละบุคคล นักปรัชญาได้
พยายามให้นิยามความจริง และการเรียนรู้ซึ่งก็คือการแสวงหาความจริงว่าคืออะไร ด้วยวิธีการใช้เหตุผล
เชิงตรรกะหรือวิธีนิรนัย
เพลโต (Plato) นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงซึ่งมีชีวิตก่อนปีคริสตศักราช (327-417 B.C.) ได้ให้
นิยามความจริงคือ ความคิดที่บริสุทธ์ เขาเชื่อว่าความคิดและความคิดรวบยอดต่าง ๆ มีรูปและดำรงอยู่
ภายในบุคคล การเรียนรู้คือ กระบวนการพัฒนาความคิดใฝ่ดีที่มีอยู่ในมนุษย์มาตั้งแต่เกิด ตามแนวคิด
ของเพลโต ความคิดจะได้รับการพัฒนาผ่านการเรียนรู้วิชาที่เชื่อว่ามีรูปความคิดบริสุทธ์ เช่น คณิตศาสตร์
อริสโตเติล (Aristotle) ศิษย์ของเพลโต ให้นิยามความจริง คือความสัมพันธ์ที่พบในธรรมชาติและ
สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ดังนั้นแหล่งของความรู้ ก็คือสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ การเรียนรู้เกิดขึ้นผ่าน
การมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดของอริสโตเติล ความรู้เกิดจากการสร้างภาพ (image) จาก
ประสบการณ์และการเชื่อมโยงของภาพเหล่านั้น ปัญหาของการใช้วิธีการปรัชญาในการสร้างความรู้
เกี่ยวกับโลกแห่งความจริงก็คือ ประการแรก วิธีการทางปรัชญาหรือการใช้เหตุผลเชิงตรรกะใช้ได้กับ
คำถามทั่วไป ไม่สามารถตอบคำถามเฉพาะที่ต้องการได้ และได้สารสนเทศจำกัด ประการต่อมาขาด
การทดสอบ ดังนั้นจึงพบข้อบกพร่องในการสรุปและการอธิบายเหตุและผลของปรากฏการณ์ ในช่วง
ระหว่างปีก่อนคริสตศักราช 400 B.C. ถึง ศตวรรษที่ 19 วิธีการทางปรัชญานับเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญ
ของความรู้
การวิจัยเชิงประจักษ์ (empirical research) หรือการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ เริ่มต้นตั้งแต่
ศตวรรษที่ 16 เมื่อกาลิเลโอบุกเบิกการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์หรือการค้นหาความจริงเกี่ยวกับโลก
ด้วยกระบวนการหาหลักฐาน ข้อมูลจากการสังเกตอย่างเป็นระบบ หรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์
กาลิเลโอได้ใช้การทดลองเพื่อตรวจสอบกฎเกณฑ์ในธรรมชาติ โดยทำการทดลองที่มีชื่อเสียงมากที่เมืองปิซา
ประเทศอิตาลี จากการทดลองปล่อยวัตถุสองก้อนที่มีน้ำหนักต่างกันลงมาพร้อมกัน พบว่าวัตถุตกลง
ถึงพื้นดินพร้อมกัน การทดลองนี้พิสูจน์ว่าแรงโน้มถ่วงของโลกกระทำต่อวัตถุทั้งสองเท่ากัน วิธีการหา
ความรู้ด้วยการทดลองเชิงประจักษ์ได้ทำให้เกิดข้อความรู้มากมายเพื่อตอบปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับโลก
ธรรมชาติ งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญซึ่งเปลี่ยนแปลงความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต ที่สำคัญก็คือ
การค้นพบของชาลส์ ดาวินส์ (Charles Darwins) เรื่อง กำเนิดของสิ่งมีชีวิต (origin of species) ในปี
ค.ศ. 1859ซึ่งก่อกำเนิดทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ที่อธิบายว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกที่พบเห็นอยู่ในปัจจุบันนั้น
มิได้ดำรงอยู่อย่างที่เป็นในอดีต แต่เกิดจากการที่สิ่งมีชีวิตนั้นสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่
เปลี่ยนแปลงมาอย่างยาวนาน ความคิดของมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวิวัฒนาการ
ช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1930-1950 ซึ่งเป็นช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นักจิตวิทยาที่ศึกษาค้นคว้า
เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ ได้ใช้การทดลองในห้องปฏิบัติการเพื่อที่จะสร้างทฤษฎีที่จะอธิบายการ
เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ ทำให้ค้นพบความสัมพันธ์ของสิ่งเร้าและการตอบสนองที่มีผลต่อการ
แสดงพฤติกรรม ข้อความรู้จากนักจิตวิทยาเป็นประโยชน์ต่อนักการศึกษา แพทย์ นักธุรกิจและบุคคล
อื่นๆ ในการนำไปใช้ปรับพฤติกรรมของมนุษย์ ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของทฤษฎี
การเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม แต่ช่วงที่มีการประยุกต์ทฤษฎีการเรียนรู้ มาสู่การออกแบบการเรียน
การสอนที่สำคัญคือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งเป็นแบ่งได้ 4 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 ช่วงระหว่าง ค.ศ. 1950-1975 จากห้องปฏิบัติการสู่ห้องเรียน
เป็นช่วงของการนำทฤษฎีการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นในห้องทดลองมาประยุกต์ใช้ใน
การออกแบบกระบวนการฝึกอบรมบุคคลให้มีทักษะการปฏิบัติ
ระยะที่ 2 ช่วงระหว่าง ค.ศ. 1975-1990 ช่วงก่อกำเนิดของทฤษฎี
การเรียนรู้กลุ่มพุทธินิยมที่สนใจกระบวนการคิด การแก้ปัญหามากกว่าการทำเป็น ทำได้ดังเช่นใน
ช่วงแรก
ระยะที่ 3 ช่วงระหว่าง ค.ศ. 1980-ปัจจุบัน เป็นช่วงที่ปัจจัยด้านสังคม วัฒนธรรมและปัจจัย
ด้านบุคคลได้รับความสนใจว่ามีผลกระทบต่อการเรียนรู้อย่างไร
ระยะที่ 4 ช่วงระหว่าง ค.ศ. 1990-ปัจจุบัน เป็นช่วงการก่อกำเนิดของทฤษฎีการสร้างความรู้ที่เชื่อว่า
ความรู้เป็นสิ่งที่บุคคลแต่ละคนสร้างความหมาย ความเข้าใจของตนขึ้นจากประสบการณ์และความรู้เดิมที่มีอยู่
พัฒนาการของทฤษฎีการเรียนรู้ในแต่ละช่วงเวลาดังกล่าวจะช่วยให้เราเข้าใจแนวคิดและแนวโน้มของการออกแบบ
การเรียนการสอนที่เปลี่ยนแปลงไปตามทฤษฎีการเรียนรู้ที่ยึดถือเป็นพื้นฐาน ซึ่งจะกล่าวถึงในรายละเอียด ดังนี้ (Gredler,
1997, pp. 51-60)
ระยะที่ 1 จากห้องปฏิบัติการสู่ห้องเรียน (ช่วงระหว่าง ค.ศ. 1950-1975)
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายสัมพันธมิตรที่ประกอบด้วยประเทศอเมริกา อังกฤษและ
ประเทศที่เป็นพันธมิตรมีความต้องการทางการทหารในการฝึกฝนคนให้สามารถใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่มี
ความซับซ้อนเพื่อใช้ในการสงคราม เช่น การใช้วิทยุสื่อสาร การยิงปืนต่อสู้อากาศยาน เป็นต้น จึงเป็น
จุดเริ่มต้นของการน าแนวคิดทฤษฎีการเรียนรู้ซึ่งวิจัยในห้องทดลองมาใช้จริงในการฝึกอบรม ซึ่งพบ
ปัญหาว่าหลักการเรียนรู้เกี่ยวกับผลของรางวัลที่มีต่อการฝึกหัดไม่ได้ผลมากนัก เพราะยังมีพฤติกรรมอื่น ๆ
ที่เกี่ยวกับกระบวนการคิดและการรับรู้สารสนเทศ ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ด้วยการวางเงื่อนไขของสิ่งเร้า
และการตอบสนองเท่านั้น จึงก่อให้เกิดความพยายามในการออกแบบการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ
มากขึ้น โดยคำนึงถึงองค์ประกอบในการเรียนการสอนต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อฝึกทักษะและ
ความสามารถในการปฏิบัติงาน อย่างไรก็ดีความต้องการทางการทหารในการฝึกคนในช่วงสงครามก็
ไม่ได้ทำให้การออกแบบการเรียนการสอนได้รับความสนใจและเห็นว่าเป็นความจำเป็นในระดับต้น ๆ
จนกระทั่งรัสเซียสามารถปล่อยยานอวกาศสปุทนิค (sputnik) ขึ้นสู่วงโคจรของโลกได้สำเร็จเป็นครั้งแรก
ในโลกเมื่อปี ค.ศ. 1957 ทำให้อเมริกาเริ่มตระหนักว่า ระบบการศึกษาของตนนั้นล้มเหลวและ
จำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษาอย่างรีบด่วนโดยเฉพาะวิชาที่สำคัญ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์
และภาษาศาสตร์ อเมริกาได้ทุ่มเทงบประมาณในการพัฒนาหลักสูตรที่เน้นการพัฒนาทักษะด้านการคิด
การจัดการเรียนรู้แบบค้นพบและให้นักเรียนมีส่วนร่วมมากขึ้น ในระยะนี้นักวิจัยทางการศึกษาสนใจที่จะ
นำทฤษฎีการเรียนรู้มาแปลงสู่การปฏิบัติหรือการออกแบบการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้
ได้มากขึ้น บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการนำเสนอแนวคิดในการพัฒนาหลักสูตรและการออกแบบการเรียน
การสอนจนได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเสนอทฤษฎีการสอนเป็นคนแรกคือ บรูเนอร์
(Bruner, 1966, p. 40) โดยบรูเนอร์เป็นผู้ที่กล่าวว่า ทฤษฎีการสอนควรอธิบายหลักการสำหรับการออกแบบ
การเรียนการสอนในห้องเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังกล่าวว่าทฤษฎีการเรียนรู้เป็นข้อความ
ที่อธิบาย พรรณนาการเรียนรู้ว่าเป็นอย่างไร (descriptive) ในขณะที่ทฤษฎีการสอนเป็นข้อความเชิงบรรยาย
และพรรณนา (prescriptive) สภาพการณ์ของการจัดการเรียนการสอนว่าทำอย่างไร นอกจากบรูเนอร์แล้ว
แนวคิดในการออกแบบการเรียนการสอนของบุคคลที่มีผู้นำไปใช้ในห้องเรียนมากที่สุดในช่วงเวลานี้ คือ
แนวคิดของสกินเนอร์ (Skinner) เพียเจต์ (Piaget) และกานเย (Gagné) ผลงานในการนำทฤษฎี
การเรียนรู้ไปใช้ในการออกแบบหลักสูตรและการเรียนการสอนของบุคคลเหล่านี้ ได้แก่
1. รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของบรูเนอร์ บรูเนอร์เป็นผู้ที่เสนอว่า เป้าหมายทางการ
ศึกษาควรเป็นไปเพื่อพัฒนาบุคคลให้มีความรู้และสติปัญญา ซึ่งหมายถึงบุคคลที่มีความสามารถในการ
แก้ปัญหา หลักสูตรควรเอื้อต่อการพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาโดยผ่านกระบวนการสืบสอบและค้นพบ
บรูเนอร์ได้แบ่งระดับการพัฒนาสติปัญญาว่ามี 3 ลำดับ ได้แก่
ขั้น enactive เป็นขั้นการลงมือปฏิบัติหรือขั้นทำเป็น แม้ว่าจะไม่สามารถอธิบายได้ว่ามี
ขั้นตอนในการทำอย่างไร
ขั้น iconic เป็นขั้นที่สามารถสรุปสิ่งที่เห็นเป็นภาพ คือ สามารถนำเสนอสิ่งที่ทำได้เป็น
แผนภูมิ แผนภาพได้
ขั้น symbolic เป็นขั้นการคิดอย่างเป็นนามธรรม คือ สามารถใช้ภาษาหรือสัญลักษณ์
เพื่ออธิบายประสบการณ์หรือการกระทำของตนได้
ในการเรียนรู้วิชาการต่าง ๆ จึงควรนำเสนอความรู้ให้เป็นไปตามลำดับการพัฒนาทาง
สติปัญญาของผู้เรียนคือ จากการกระทำสู่ภาพและสัญลักษณ์ หลักสูตรควรออกแบบเพื่อพัฒนาผู้เรียน
ให้มีความรู้อย่างถ่องแท้ โดยการจัดโครงสร้างของเนื้อหาวิชาหรือการจัดความคิดรวบยอดที่ค่อย ๆ
พัฒนาผู้เรียนไปตามลำดับจากพื้นฐานยกระดับไปสู่ความคิดรวบยอดที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นการจัดหลักสูตรแบบ
ก้าวเวียน “spiral curriculum” นอกจากนี้บรูเนอร์ยังได้กล่าวถึงการจัดการเรียนการสอนที่อาจกล่าวได้
ว่าเป็นแนวคิดหรือหลักการในการออกแบบการเรียนการสอนว่า
“เราสามารถสอนวิชาใดก็ได้ให้กับนักเรียนไม่ว่าจะอยู่ในระดับขั้นพัฒนาการใดให้
เรียนรู้ได้ ถ้าจัดให้อยู่ในรูปแบบที่สอดคล้องกับสติปัญญาของผู้เรียน” (Bruner, 1964 cited in
Gredler, 1997, p. 53)
2. เครื่องช่วยสอนของสกินเนอร์ (Skinner’s teaching machine) สกินเนอร์เป็น
นักทฤษฎีในกลุ่มพฤติกรรมนิยมที่ศึกษาการวางเงื่อนไขแบบปฏิบัติการ (operant conditioning
theory) ในหลากหลายลักษณะเพื่อศึกษาผลของการตอบสนองต่อสิ่งเร้า สกินเนอร์สนใจการให้
แรงเสริมที่มีผลต่อการแสดงพฤติกรรมซึ่งทำให้ได้ข้อสรุปสำคัญในการเรียนรู้ว่า การกระทำใด ๆ ถ้าได้รับ
การเสริมแรงมีแนวโน้มที่จะกระทำซ้ าอีก ส่วนการกระทำที่ไม่มีการเสริมแรงมีแนวโน้มว่าความถี่ของ
การกระทำจะลดลงและหายไปในที่สุด สกินเนอร์ได้นำหลักการให้แรงเสริมนี้ไปพัฒนาเครื่องสอน
(teaching machine) สำหรับใช้ในห้องเรียนและสื่อที่ใช้ร่วมกับเครื่องสอนนี้ที่เรียกว่า บทเรียนแบบ
โปรแกรม (program instruction) ซึ่งนับว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ในยุคหลังสงคราม การสอนประกอบด้วย
สื่อที่ให้ผู้เรียนได้เรียนตามความสามารถของตนเอง (self-paced) และสื่อที่เรียนด้วยตนเอง (standalone)
โดยไม่ต้องมีผู้สอน เนื้อหาที่นำมาสอนจะจัดเป็นกรอบความรู้ที่เรียงลำดับจากง่ายไปยาก ผู้เรียน
เรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อที่จัดไว้ตามลำดับ สื่อการเรียนแบบโปรแกรมนี้ได้รับความนิยมในช่วง
ค.ศ. 1957-1965 หลังจากนั้นก็เสื่อมความนิยมลง เนื่องมาจากการออกแบบการเรียนการสอนโดยผู้ที่ไม่
เข้าใจการออกแบบและประสิทธิภาพของเครื่องจักรที่เชื่องช้าในยุคนั้น อย่างไรก็ตามเครื่องสอนของ
สกินเนอร์ได้เป็นต้นแบบที่พัฒนามาเป็นบทเรียนส าเร็จรูปหรือบทเรียนแบบโปรแกรมในปัจจุบัน
ระยะที่ 2 การก่อกำเนิดของทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพุทธินิยม (ช่วงระหว่าง ค.ศ. 1975-1990)
การพัฒนาของทฤษฎีการเรียนรู้ในช่วงนี้คือ การค้นคว้าและหาพยานหลักฐานของการเรียนรู้
ที่เป็นการสร้างความหมาย ความเข้าใจของมนุษย์ โดยเชื่อว่ากระบวนการคิดของผู้เรียนคือปัจจัยสำคัญ
ในการอธิบายการเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วยวิธีที่ผู้เรียนรับรู้สารสนเทศ กระบวนการจัดกระทำกับสารสนเทศ
และการประยุกต์ใช้สารสนเทศ ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพุทธินิยมมุ่งอธิบายโครงสร้างทางความคิด
การเปลี่ยนแปลงความคิดและสิ่งที่เป็นตัวแทนความคิด ทฤษฎีการเรียนรู้ที่สำคัญในช่วงนี้คือทฤษฎี
เกสตัลต์ (gestalt theory) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่อยู่กึ่งกลางระหว่างทฤษฎีกลุ่มพฤติกรรมนิยมก่อนจะก้าวสู่
ทฤษฎีกลุ่มพุทธินิยม เป็นทฤษฎีที่สนใจเกี่ยวกับการรับรู้สิ่งต่าง ๆ เป็นรูปร่างหรือรูปแบบที่เป็นภาพรวม
ของสิ่งนั้น หรือรับรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นสถานการณ์เดียวกัน
ทฤษฎีที่สำคัญอีกทฤษฎีหนึ่งคือ ทฤษฎีการประมวลผลสารสนเทศ (information
processing theory) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ได้รับอิทธิพลจากการพัฒนาของเครื่องคอมพิวเตอร์ความเร็วสูง
ซึ่งมีศักยภาพในจัดการกับข้อมูลจำนวนมาก ทฤษฎีนี้เปรียบเทียบการทำงานของสมองในการเปลี่ยน
สารสนเทศที่ได้รับมาเป็นโครงสร้างของความคิดที่เก็บเป็นความทรงจำของมนุษย์กับการประมวลผล
สารสนเทศของเครื่องคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ยังสนใจศึกษาเรื่อง“การรู้คิด” (metacognition) ซึ่ง
หมายถึง การตระหนักรู้เกี่ยวกับความรู้และความสามารถของตนเองและใช้ความเข้าใจในการรู้ดังกล่าวใน
การจัดการควบคุมกระบวนการคิด การท างานของตนด้วยกลวิธีต่าง ๆ อันจะช่วยให้การเรียนรู้และงาน
ที่ทำประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ (ทิศนา แขมมณี, 2555, หน้า 82)
ระยะที่ 3 การก่อกำเนิดของทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (ช่วงระหว่าง ค.ศ. 1980-ปัจจุบัน)
ในช่วงที่ผ่านมา ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยมไม่สามารถอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ที่
มีความซับซ้อนได้ ซึ่งทำให้นักจิตวิทยาให้ความสนใจผลกระทบของปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มี
ต่อการเรียนรู้ เป็นที่มาของทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (social learning theory) เนื่องจากพฤติกรรม
การเรียนรู้ของมนุษย์เกิดขึ้นในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมซึ่งมีความซับซ้อน ต่างจากการศึกษา
พฤติกรรมของสัตว์ทดลองในห้องปฏิบัติการมากนัก นักทฤษฎีการเรียนรู้คนสำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ แบนดูรา
(Bandura, 1977) ซึ่งต่อมาได้รับการกล่าวถึงในฐานะนักทฤษฎีพุทธินิยมเชิงสังคม (social-cognitive
theory) หลักการพื้นฐานที่สำคัญของทฤษฎีนี้กล่าวว่า ผู้เรียนเรียนรู้พฤติกรรมใหม่จากการสังเกตพฤติกรรม
ของผู้อื่นหรือที่เรียกว่าพฤติกรรมตัวแบบและผลที่ตามมาของการแสดงพฤติกรรมและนำสารสนเทศที่ได้รับ
จากการสังเกตมาใช้ในการตัดสินใจว่าจะยอมรับพฤติกรรมใดเพื่อนำไปปฏิบัติ กระบวนการในการสังเกต
และตัดสินใจนี้เป็นกระบวนการภายในที่เกิดกับผู้เรียนเกี่ยวกับการประมวลผลสารสนเทศ ทฤษฎีการเรียนรู้
ของแบนดูราจึงเป็นทฤษฎีที่มีพื้นฐานจากทั้งทฤษฎีกลุ่มพฤติกรรมนิยมและทฤษฎีกลุ่มพุทธินิยม แบนดูรา
ยังพบว่าทั้งตัวแบบและความเชื่อที่บุคคลมีต่อตนเองเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเรียนรู้ (Gredler, 1997)
ไวก็อทสกี (Vygotsky) เจ้าของทฤษฎีประวัติศาสตร์สังคม (socio-historical theory) เป็น
อีกผู้หนึ่งที่ได้รับการจัดให้เป็นนักทฤษฎีในกลุ่มทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมนี้ด้วย ผลงานของไวก็อทสกี
แม้ว่าจะเป็นงานที่ทำมานานแล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1924-1938 ซึ่งเป็นงานที่อธิบายกระบวนการคิดของมนุษย์
เช่นเดียวกับงานของเพียเจต์แต่มีแนวคิดในลักษณะที่แตกต่างกัน แต่กว่าผลงานของเขาจะได้รับการแปล
จากภาษารัสเซียเป็นภาษาอังกฤษและได้รับการตีพิมพ์ให้โลกตะวันตกได้ทราบนั้นก็ล่วงมาถึง ปี ค.ศ. 1980
ซึ่งทำให้ทฤษฎีการสร้างความรู้ (constructivism) ซึ่งพัฒนาต่อจากทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพุทธินิยมได้รับ
ความสนใจจากนักการศึกษาทั่วโลกอย่างแพร่หลาย (Gredler, 1997, p. 237)
ระยะที่ 4 การก่อก าเนิดของทฤษฎีการสร้างความรู้ (ช่วงระหว่าง ค.ศ. 1990-ปัจจุบัน)
ทฤษฎีการสร้างความรู้ (constructivism) มีพื้นฐานมาจากปรัชญาเหตุผลนิยม (rationalism)
ปรัชญานี้มีความเชื่อว่าเหตุผลเป็นแหล่งกำเนิดของความรู้ ความจริงได้จากการสร้างมากกว่าการค้นพบ
นักปรัชญาเหตุผลนิยมเชื่อว่าไม่มีความจริงเดียวที่ได้รับการค้นพบ แต่ละคนสร้างความจริงที่เป็นของตนเอง
(Smith & Ragan,1999, p. 15) เมื่อสืบสาวถึงที่มาของทฤษฎีการสร้างความรู้ (constructivism)
พบว่าพื้นฐานสำคัญมาจากทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา (cognitive development) ของเพียเจต์
และทฤษฎีประวัติศาสตร์สังคม (socio-historical theory) ของไวก็อทสกี ทั้งสองทฤษฎีทำให้เกิดหลักการ
สำคัญในการเรียนรู้แบบสร้างความรู้ซึ่งเป็นทฤษฎีที่มีผู้นำมาใช้อย่างกว้างขวางทั่วโลกในปัจจุบัน
การปฏิรูปการศึกษาของไทยทศวรรษแรก ระหว่างปี พ.ศ. 2540–2550 ที่ถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด ก็ได้มี
การนำทฤษฎีการสร้างความรู้นี้มาเป็นพื้นฐานสำคัญในการปฏิรูปการจัดการเรียนรู้
จากพัฒนาการของทฤษฎีการเรียนรู้ในแต่ละระยะที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าทฤษฎีการ
เรียนรู้ที่มีบทบาทสำคัญในการออกแบบการเรียนการสอน ในช่วงแรกคือ ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่ม
พฤติกรรมนิยม (behaviorism) ต่อมาทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพุทธินิยม (cognitivism) ทฤษฎีการเรียนรู้
ทางสังคม ซึ่งทฤษฎีการเรียนรู้ในกลุ่มพุทธินิยมและทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมนี้เองซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญ
ของทฤษฎีการสร้างความรู้ (constructivism) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่มีบทบาทสำคัญในการออกแบบการเรียน
การสอนในปัจจุบัน

//ที่มา https://sites.google.com/site/hnwykarreiynru123/phathnakar-khxng-thvsdi-kar-reiyn-ru
24/04/2561 google.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น