วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2562

โลกาภิวัตน์กับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย โดย ดร.บวร ประพฤติดี


โลกาภิวัตน์กับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย โดย ดร.บวร ประพฤติดี
การขับเคลื่อนการพัฒนาในกรอบโลกาภิวัตน์ 1. คลื่นการเปลี่ยนแปลง การเข้ามาของระบบโลกาภิวัตน์ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายแห่งรัฐที่เป็นหัวใจกำหนดการปรับกลยุทธ์การบริหารรัฐบาลในอนาคต การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตั้งแต่การเข้ามาของระบบโลกาภิวัฒน์ เกิดผลกระทบทำให้สังคมประเทศกำลังพัฒนา เติบโตภายหลังการพัฒนาอุตสาหกรรม และเกิดเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ มีเทคโนโลยีระดับสูงที่สื่อสารแบบไร้พรมแดน มีลูกค้าที่รอบรู้และความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นและมีความหลากหลายในการขอรับบริการ ทำให้องค์กรต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สังคมไทยในปัจจุบันคือสังคมที่พัฒนาไปสู่โลกของความรู้และมีระบบการสื่อสารที่สร้างสื่อสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและองค์กรทั่วโลกอย่างรวดเร็วไม่มีขอบเขต กระบวนการเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่งทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นองค์กรระดับระหว่างประเทศ ภายในประเทศ ชุมชนเล็กๆในชนบท เครื่องมือการสื่อสารที่ไร้พรมแดนทำให้ยุทธ์ศาสตร์ในการบริหารองค์กรต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้สามารถรองรับระบบการบริหารที่ทันสมัยได้ 2. เศรษฐกิจทุนนิยมวัฒนธรรมการแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงจากกระแสโลกาภิวัตน์นำเข้าคลื่นการลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมๆกับการกู้เงินต่างประเทศมาสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมเพื่อรองรับกระแสการพัฒนา โครงการขนาดยักษ์เช่น Eastern Seaboard ในภาคตะวันออกเป็นการลงทุนทางอุตสาหกรรมที่เป็นกระแสที่ชื่นชมในยุแรกๆของการพัฒนา แต่กลับกลายเป็นความทุกข์ทรมาณของประชาชนในยุคปัจจุบัน( พ.ศ. 2552 ) ที่ผลพวงของการลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม กระแสโลกาภิวัตน์เข้ามาพร้อมกับวัฒนธรรมการทำงานที่เน้นการแข่งขันอย่างเสรีไม่มีการผูกขาด วัฒนธรรมการทำงานแบบธรรมาภิบาลที่ควบคุมการทุจริตคอรัปชั่นและองค์การบริหารที่เน้นการกระจายอำนาจในองค์การ การทำงานเป็นทีม อย่างไรก็ตามผลของการพัฒนาที่มองเห็นเป็นรูปธรรม กลับเป็นการพัฒนานโยบายการศึกษาที่นับวันจะหนีจากวงล้อมของความดีและระบบคุณธรรมจริยธรรมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ดีรับใช้สังคม การศึกษาที่เน้นการแข่งขันทำให้มีการผูกขาดการศึกษาในกลุ่มแคบๆของชนชั้นนำที่มีทุนเท่านั้น นักเรียน นักศึกษาจากบ้านนอกจะไม่มีโอกาสในการแข่งขันเพราะขาดต้นทุนที่เป็นปัจจัยหลักในการเรียน ธุรกิจที่ไม่มีการผูกขาดจึงยากที่จะหาพบได้ตามทฤษฎีการพัฒนาประเทศแบบทุนนิยม การเข้ามาของทุนใหญ่โลกาภิวัตน์จึงเกิดการทำลายล้างทุนเล็กที่เป็นทรัพยากรทางเศรษฐกิจ สังคมและวิถีชีวิตของสังคมชนบท การล่มสลายของธุรกิจโชฮ่วยมาจากการเข้ามาของทุนเสรีนิยมโลกาภิวัตน์แทบทั้งสิ้น รัฐบาลแทนที่จะกำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐเพื่อคุ้มครองธุรกิจท้องถิ่นให้อยู่ได้กลับไม่พยายามดำเนินการ ซึ่งสาเหตุหลักน่าจะเป็นเพราะธุรกิจโลกาภิวัตน์มีการดำเนินงานระดับนโยบายมาโดยตลอด สายสัมพันธ์ทางการเมือง ธุรกิจมีความเป็นปึกแผ่นและเหนียวแน่นเกินกว่ากำลังของประชาชนในชนบทจะเปลี่ยนแปลงได้  3. สื่อโลกาภิวัตน์ไร้พรมแดน การดำเนินธุรกิจโลกาภิวัตน์ย่อมอาศัยการสื่อสารเป็นกลไกสำคัญในการวางตลาดสินค้าและบริการ การเข้ามาของเทคโนโลยีสารสนเทศได้ยกระดับการแข่งขันจากสื่อหนังสือพิมพ์สู่สื่อโทรทัศน์และสื่อคอมพิวเตอร์ดอตต์คอมม์ ที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อกลยุทธ์การขายสินค้าและบริการ ดังนั้นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีต้นทุนสูงในการใช้การสื่อสารที่ไร้พรมแดนทำการแข่งขันในระบบธุรกิจที่เปิดให้แข่งขันอย่างเสรี ย่อมได้เปรียบตลอดเวลา ดังนั้นธุรกิจชุมชนหรือวิสาหกิจขนาดเล็กซึ่งไร้แขนขาในการบริหารจัดการสื่อจึงไม่สามารถเข้าแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพได้ในระบบธุรกิจที่เรียกว่าเปิดเสรี การเปลี่ยนแปลงด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคสื่อเสรีที่เห็นชัดเจนในปี พ.ศ. 2551 คือการเกิดของสื่อเสรีที่เรียกชื่อว่า ASTV การเกิดขึ้นของสื่อโทรทัศน์ไร้พรมแดนทำให้เส้นแดนของกระบวนการเรียนรู้ในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อเปรียบเทียบกับสื่อการเรียนรู้ที่รับเป็นผู้ควบคุมในอดีต การเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อการใช้อำนาจรัฐคือการเกิดขึ้นของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย( People’s Alliance for Democracy:PAD) ที่ได้รวมหัวใจของพลังประชาชนผู้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียวทำหน้าที่ใช้หนี้แผ่นดินเพื่อสร้างสังคมใหม่ซึ่งถือว่าเป็นการทำบุญให้เกิดประชาธิปไตยศีลธรรมในสังคมไทย สื่อเสรีที่เรียกตัวเองว่า ASTV สื่อของประชาชนได้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนพลังการเปลี่ยนแปลงผ่านสื่อโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม จากจุดนี้เองที่สังคมไทยได้มีวิสัยทัศน์การเมืองใหม่เกิดขึ้นซึ่งถือได้ว่าเป็นกระบวนการระดมพลังแผ่นดิน( Public Trust ) ที่เกิดขึ้นยากมากในสังคมทั่วไป ASTV ใช้การสื่อสารและระบบเทคโนโลยีข่าวสารของระบบโลกาภิวัตน์กับกระบวนการทางศีลธรรม ที่พัฒนาจากความรู้ความจริงที่ไม่บิดเบือนในสังคมบวกกับผู้นำคุณธรรมหลายฝ่ายในภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาควิชาการและกลุ่มประชาชนที่เบื่อหน่ายกับสังคมแบบนิยายน้ำเน่าในอดีตรวมหัวใจ รวมพลังและศรัทธาเพื่อสร้างสังคมใหม่ 4. การปรับยุทธศาสตร์แนวราบ โลกาภิวัตน์ทำให้เกิดการปรับตัวของกระบวนทัศน์ทางการเมืองและการพัฒนาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรที่เห็นชัดเจนคือโครงสร้างการบริหารองค์กรแบบแนวดิ่งเปลี่ยนเป็นองค์กรแนวราบ จากองค์กรที่เน้นอำนาจที่ศูนย์กลาง มีการควบคุมรวมอำนาจเป็นองค์กรแบบกระจายอำนาจที่เน้นการทำงานเป็นทีมใช้ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมืออาชีพ การออกแบบองค์กรจะเน้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่จะพัฒนาไปสู่การสร้างศักยภาพและความสามารถขององค์กรนำไปสู่ความได้เปรียบในการบริหารและการแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงการบริหารองค์กรในอนาคตคือการยึดประชาชนเป็นเป้าหมายหลัก องค์กรจึงต้องมีกลยุทธ์ประชาชนสัมพันธ์ที่ทำให้ผู้บริโภคสินค้าเกิดความพอใจในผลิตภัณฑ์และการให้บริการนำไปสู่ความประทับใจและสร้างสายใยที่ผูกพันธ์ตลอดชีวิต ในระบบธุรกิจลูกค้าสัมพันธ์แบ่งเป็นลูกค้าภายในและลูกค้าภายนอก ลูกค้าภายในมีความสำคัญกว่าลูกค้าภายนอกที่องค์กรจำเป็นต้องสร้างให้พร้อมด้วยศักยภาพและความสามารถในการบริหารเพื่อทำหน้าที่ให้บริการลูกค้าภายนอกทั้งคุณภาพของตัวผลิตภัณฑ์และการให้บริการตลอดชีวิต การบริหารการเปลี่ยนแปลงจะสำเร็จได้ดี จำเป็นต้องมีผู้นำคุณธรรมในการเปลี่ยนแปลงสังคม(Transformational Leadership) ผู้นำมีความสำคัญอย่างยิ่งในความสำเร็จของการบริหารองค์กร ผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะเป็นผู้ที่กำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมายและกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่มาจากแนวคิดและปรัชญาการบริหารของผู้นำเอง หรืออาจมาจากการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์กลยุทธ์จากสมาชิกชั้นนำในองค์กร หลังจากนั้นผู้นำและทีมงานบริหารจะต้องผลักดันกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงจากระดับบนไปสู่ทุกระดับขององค์กรเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการเรียนรู้สู่บุคลากรทุกคน ผู้นำการเปลี่ยนแปลงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในทิศทางเดียวกันกับการพัฒนาองค์กร การพัฒนาคนให้มีศักยภาพและความสามารถโดยกระบวนการฝึกอบรมอย่างเข้มข้น และการกำหนดวัฒนธรรมองค์กรใหม่เพื่อนำมาปฏิบัติอย่างทั่วถึง วัฒนธรรมองค์กรคือหลักการที่กำหนดขึ้นมาเพื่อเชื่อมประสานบุคลากรในองค์กรให้คิด กระทำในทิศทางเดียวกัน ผู้นำมีความจำเป็นในเบื้องต้นที่จะต้องผลักดันพลังสมาชิกองค์กรให้มีหัวใจเป็นหนึ่งเดียว ผสานพลังในการทำงานเพื่อเป้าหมายขององค์กร ผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสังคมการเมืองใหม่จึงต้องมีความกล้าหาญ เด็ดขาดและเข้มแข็งในสถานการณ์ที่ต้องเด็ดขาดและประนีประนอมในสถานการณ์ที่ต้องประนีประนอม พร้อมๆกับการมีคุณธรรมและจริยธรรมสำคัญที่ผู้นำพึงมีได้แก่ ความโปร่งใส ความรับผิดชอบและการเป็นบุคคลที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี การแสวงหาความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อมองหาแนวนโยบายและการตัดสินใจที่รอบคอบรัดกุมที่สุดในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ นอกจากนั้นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ควรเป็นนักบริหารความสัมพันธ์ คือเป็นผู้มีทักษะในการสื่อสารที่กระตุ้นและนำบุคคลเชื่อ ใช้วิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลนำองค์กร ทำให้ทุกคนในองค์กรมีความเชื่อร่วมกัน เป็นผู้นำที่มีอิทธิพลเหนือผู้อื่น มีพลังดึงดูดคนส่วนใหญ่ให้คล้อยตาม มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงบุคคลอื่นให้มีความสามารถ ในการนำการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับองค์กร ผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่เยี่ยมยอดในอนาคตควรมีศักยภาพในการนำสูงเด่นกว่าคนทั่วไป ศักยภาพที่เป็นความรอบรู้จากระบวนการเรียนรู้และ ศักยภาพทางอารมณ์ที่เรียกว่า ความมีปัญญาเหนืออารมณ์ ผู้นำที่มีความสามารถจำเป็นต้องมีองค์ประกอบทั้งสองประการชัดเจนจึงสามารถนำการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความรู้และใช้ปัญญาเหนืออารมณ์ ในการบริหารการตัดสินใจนำองค์กรและสมาชิกไปสู่เป้าหมายด้วยความเชื่อมั่นในพลังการนำ ความแตกต่างของของความสำเร็จในการนำการเปลี่ยนแปลงขององค์กรต่างๆในสังคมจึงขึ้นกับปัจจัยของผู้นำการเปลี่ยนแปลงเป็นลำดับแรกเพราะผู้นำการเปลี่ยนแปลงคือผู้ที่มีคุณสมบัติครบสมบูรณ์ในการการนำองค์กรไปสู่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้น องค์กรในอนาคตต้องการผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในสังคมการเรียนรู้และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการบริหารอย่างไร้พรมแดน 5. ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ต่อนโยบายการพัฒนา 5.1 นโยบายแรงงานกับความยุติธรรมทางสังคม โลกาภิวัตน์ทำให้เกิดทุนใหญ่ที่มีอำนาจความรู้( Knowledge ) อำนาจทางการเมือง( Political Power ) และอำนาจเงิน( Money )เข้ามาดำเนินการธุรกิจภายใต้กรอบการแข่งขันเสรีบริษัททุนขนาดใหญ่ได้ใช้องค์ความรู้และอำนาจรัฐในการจัดการบริหารต้นทุนให้ต่ำเพื่อกำไรมหาศาลทำให้เกิดการเอาเปรียบแรงงานในการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรม การเกิดขึ้นของสหภาพแรงงานส่วนใหญ่จึงเกิดจากแรงผลักดันของกฎหมายและสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้นการเคลื่อนไหวเพื่อก่อตั้งสหภาพแรงงานเกิดขึ้นเสมอเพราะความขัดแย้งดังกล่าว สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดของสหภาพแรงงานคือความขัดแย้งระหว่างพนักงานและฝ่ายจัดการการกดขี่แรงงานและความไม่ยุติธรรมในการบริหารบุคลากร นายจ้างเคยคิดว่าถ้าสามารถจัดการกับระบบการจ้างงานที่ดีมีระบบสวัสดิการที่ดึงดูดใจแล้วสหภาพแรงงานอาจไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ความเข้าใจนี้อาจถูกแต่ไม่ยั่งยืนเนื่องจากสภาพแวดล้อมของธุรกิจเป็นระบบที่ไม่แน่นอนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาการที่จะจัดระบบแบบนี้ได้หมายความว่าองค์กรต้องมีกำไรอย่างต่อเนื่องซึ่งไม่แน่เสมอไป นักวิชาการด้านมนุษย์สัมพันธ์ได้กล่าวถึงระดับแรงจูงใจของมนุษย์ว่าสอดคล้องกับหลักธรรมชาติระดับของแรงจูงใจแปรผันได้ตลอดเวลาตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม หมายความว่าความต้องการที่คงที่ในตัวของมนุษย์ไม่มีซึ่งอธิบายต่อไปได้ว่ามนุษย์จะแสวงหาความต้องการเพื่อไปสู่จุดสุดยอดของตนเองตลอดเวลา การบริหารแรงงานสัมพันธ์เป็นกลยุทธ์องค์กรใช้แก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น เนื่องจากองค์กรไม่สามารถปฏิเสธการเกิดขึ้นของสหภาพแรงงานได้ การบริหารแรงงานสัมพันธ์จึงเป็นกลยุทธ์ที่องค์กรต้องวางแผนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวโดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม การแข่งขันในระบบธุรกิจคุณภาพของบุคคลากรและที่สำคัญการยอมรับบทบาทขององค์กรพนักงานที่เรียกชื่อว่าสหภาพแรงงาน สภาพแวดล้อมภายในองค์กรที่ได้รับผลกระทบคือทรัพยากรบุคคล โครงสร้างของทรัพยากรบุคคลเปลี่ยนแปลงไป จากระบบแรงงานที่ไร้ทักษะ กลายเป็นแรงงานที่มีทักษะ ที่กำลังมีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมในการบริหารองค์กรยุคใหม่ แรงงานยุคใหม่เป็นแรงงานที่มีความรู้และเข้าใจกลยุทธ์การบริหารองค์กร ประการต่อมาทัศนคติของแรงงานต่อนายจ้าง และนายจ้างต่อแรงงานยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนักคือแรงงานยังมองนายจ้างในฐานะเป็นกลไกของทุนนิยมที่ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ทุกหน่วยของการใช้แรงงาน ขณะที่นายจ้างมองแรงงานในแง่ลบ อยากได้ค่าจ้างสูง ทำงานน้อยๆ วันหยุดเยอะ สวัสดิการดี ทัศนคติในเชิงลบของทั้งสองฝ่าเป็นอันตรายต่อการลงทุนของต่างประเทศเพราะฉะนั้นกลไกของรัฐยังคงต้องทำหน้าที่อย่างหนักในการประสานความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างและเป็นตัวกลางในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ระบบสวัสดิการ สุขอนามัย ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานได้รับการปรับปรุงดียิ่งขึ้น เนื่องจากแรงกดดันจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ระบบสวัสดิการในองค์กรขนาดใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหามากนัก แต่ในโรงงานระดับครอบครัวยังคงมีการใช้แรงงานผิดกฎหมาย เช่น แรงงานเด็กเป็นต้น ความปลอดภัยในการทำงานถ้าปราศจากแรงบีบจากกฎหมายเชื่อว่า ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ส่วนสภาพแวดล้อมในการทำงานจะดีหรือไม่ขึ้นกับภาวะผู้นำขององค์กรและแรงกดดันจากพนักงานในองค์กร ที่สำคัญในการบริหารองค์กรวัฒนธรรมองค์กร ยังคงเป็นปัญหาหลักของผู้นำในการเปลี่ยนแปลงองค์กรเพื่อการบริการลูกค้า วัฒนธรรมองค์กรแบบดั้งเดิมที่เน้นการควบคุม การสื่อสารทางเดียวและไม่บริการยังคงมีอยู่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรเป็นเรื่องที่ยากทำไม่ค่อยสำเร็จ ยกเว้นผู้นำองค์กรจะสนับสนุนและพนักงานทั้งหมดให้ความร่วมมือ 5.2 การเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม วัฒนธรรมคือ บุคลิกของความเป็นชาติ จะเห็นได้ว่าคนอเมริกันก็มีลักษณะเป็นปัจเจกชน มีการเปลี่ยนแปลงด้านแนวคิดริเริ่ม นวัตกรรมใหม่จึงเป็นเป็นสิ่งที่คนอเมริกันคุ้นเคย ในเชิงเปรียบเทียบกับทางเอเชีย คนญี่ปุ่นก็มีบุคลิกภาพที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการบริหารองค์กรมากนัก การปรับตัวจึงลำบากเพราะระบบญี่ปุ่นคุ้นเคยกับการทำงานให้องค์กรไปตลอดชีวิต มีความจงรักภักดีสูง มีการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่นเดียวกันหากมองบุคลิกภาพของสังคมไทยซึ่งยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้เร็ว แต่ขาดวินัยในการทำงาน วัฒนธรรมเหล่านี้เป็นปัจจัยที่สร้างความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์การบริหารงาน คนอเมริกันจึงได้เปรียบในการเป็นนักคิด สร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นก็นำนวัตกรรมเหล่านั้นมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และตลาดใหม่ นอกจากนั้น วัฒนธรรมยังรวมไปถึงวิธีคิดและบุคลิกภาพในองค์กรอีกด้วย ในองค์กรที่มีวัฒนธรรมแบบรวบอำนาจก็จะส่งผลต่อการบริหารที่เบ็ดเสร็จ ขาดการมีส่วนร่วมจากพนักงาน ในขณะที่องค์กรแบบกระจายอำนาจก็จะเน้นบุคลิกภาพที่ตรงข้ามกัน วัฒนธรรมเป็นเรื่องคุณค่าร่วมที่อยู่ภายในระหว่างกลุ่ม เป็นสิ่งที่ปฏิบัติที่สอดคล้องกันของกลุ่ม สะท้อนให้เห็นคุณค่าและพฤติกรรมของคน ในทศวรรษนี้หากผู้นำต้องการที่จะปรับเปลี่ยนองค์กร อันดับแรกที่ต้องคิดคือวัฒนธรรมองค์กร การเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรต้องทำอย่างละมุนละไมให้เกิดการต่อต้านน้อยที่สุด ทุกองค์กรที่ประสบความสำเร็จต้องมีวัฒนธรรมองค์กรและวัฒนธรรมองค์กรที่ดีจะนำพลังแห่งความสำเร็จให้เกิดทั้งระบบ การบริหารวัฒนธรรมองค์กรในภาครัฐคือการบริหารระบบราชการทั้งระบบให้มีวัฒนธรรมร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันเช่นการกำหนดให้ความโปร่งใส ความยุติธรรม ความซื่อสัตย์ การมีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ในเชิงเปรียบเทียบวัฒนธรรมองค์กรในภาคธุรกิจคือพลังขับเคลื่อนที่ไร้กำแพงกั้น การบริหารธุรกิจใช้วัฒนธรรมองค์กรภาคธุรกิจเช่น บรรษัทภิบาล ผลกำไร ลูกค้า คุณภาพของสินค้า เป็นกลไกขับเคลื่อนพนักงานในองค์กร ผลกระทบเชิงวัฒนธรรมตั้งแต่การบริโภคแบบตะวันตก การใช้วัฒนธรรมตะวันตกเป็นกรอบในการบริหารวัฒนธรรม ส่งผลให้มีการกำหนดนโยบายรัฐที่ทำลายความเป็นวัฒนธรรมของสังคมไทยเช่นการจัดงานสงกรานต์ที่กรุงเทพมหานคร มีการเล่นน้ำสงกรานต์เอาใจนักท่องเที่ยวต่างประเทศจนหลงลืมความเป็นไทย ตั้งเป้าอย่างเดียวคือการทำรายได้ทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดในภาคเหนือที่เน้นโครงสร้างการคมนาคมอย่างมากเช่นจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ตัวจังหวัดเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก อัตลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่คือวัฒนธรรมกำลังถูกทำลายอย่างไม่รู้ตัว ในอนาคตเด็กเยาวชนจากภาคเหนือจะไม่มีความรู้ในรากเหง่าของตนเองเพราะการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบดังกล่าว 5.3 โครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคมและการดำรงชีวิต ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยได้กลืนกินระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง พอดี พอเพียงที่ควรเป็นทิศทางการดำเนินชีวิตของคนไทย เงินจึงมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนมากกว่าคุณค่าทางจิตใจ การใช้ชีวิตและวิธีคิดของคนส่วนใหญ่ในสังคมคือเอาเงินนำหน้าและปัญญาตามหลัง ทำให้เกิดวิธีคิดและวิธีปฏิบัติที่เห็นแก่ตัว ฟุ้งเฟ้อบริโภคนิยม เศรษฐกิจแบบทุนนิยมเดินควบคู่กันไปกับการเมืองแบบประชาธิปไตย ดังนั้นการเมืองไทยจึงมากด้วยการทุจริต การโกงการเลือกตั้ง การซื้อเสียง การใช้เงินซื้อคะแนนเสียงของประชาชนจึงมีในการเลือกตั้งทุกระดับในสังคมไทย ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ นอกจากนั้นวิธีคิดของคนไทยที่น่ากลัวคือ คิดว่าโกงไม่ว่าขอให้มีผลงาน วิกฤตเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงปี พ.ศ. 2540-41 ที่ทำให้เกิดความโกลาหลขึ้นต่อผู้คนในทุกส่วนของสังคม และเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงด้านลบของระบบโลภาภิวัฒน์อย่างชัดเจน ส่งผลกระทบมากมายโดยไม่มีผู้ใดคาดเดาถึงผลที่ตามมา อันรวมถึงหายนะใหญ่หลวงของปัจจัยในการดำรงชีพต่างๆ ชาวเมืองที่เป็นชนชั้นกลางในระดับล่างกลายเป็นคนจนในเมือง และภาระหนี้สินของเกษตรกรจำนวนมาก เด็กและเยาวชนที่เติบโตมาเป็นหนูทดลองระบบการศึกษาที่เลียนแบบตะวันตก เป็นวิธีคิดที่อยู่ในกรอบของทุนนิยมประชาธิปไตย โครงสร้างสังคมไทยจึงมีระบบการศึกษาที่สอนให้คนเห็นแก่ตัว การบริโภคแบบระบบทุน เน้นการอยู่รอดไปแต่ละวันไม่คำนึงถึงส่วนรวมและสังคม ท่านพุทธทาสให้ความเห็นว่าการศึกษาแบบนี้เป็นการศึกษาแบบหางด้วน เมื่อพลเมืองเติบโตก็จะมีความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเป็นใหญ่ สังคมจะเติบโตแบบไม่ยั่งยืนเต็มไปด้วยความขัดแย้งในหลากหลายมิติ โครงสร้างทางธุรกิจ การเติบโตของสื่อสารไร้พรมแดน เกิดกิจการขายสินค้าหรือการจำหน่ายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตและสื่อต่างๆ จนบริษัทข้ามชาติสามารถมีอิทธิพลในการครอบงำและกำหนดแบบแผนการบริโภคแก่ผู้คนจำนวนมาก ทำให้เด็กและเยาวช ผู้คนในสังคมมีวิสัยทัศน์ในการดำรงชีพรูปแบบเดียวกันไปหมด ได้แก่ การดำเนินชีวิตภายใต้ความต้องการและรสนิยมที่ถูกสังคมอุตสาหกรรมเป็นตัวชี้นำกำหนดเท่านั้น ตัวอย่างที่ดีเช่นการบริโภคฟาสต์ฟูด ในสังคมไทยทุกวันนี้จะสังเกตเห็นว่า คนไทยพยายามที่จะพัฒนาระบบคุณค่าและรูปแบบการบริโภคตามกระแสของผู้คนทั่วโลกที่มีวัฒนธรรมแตกต่างออกไป ทุกแห่งจะมีร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟูดเช่นเดียวกับในประเทศอื่นๆ เช่น McDonald’s Kentucky Fried Chicken Pizza Hut อยู่มากมายและจะพบว่าในร้านเต็มไปด้วยลูกค้าที่เป็นคนไทยโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ผลกระทบที่เห็นคือปัญหาความขัดแย้งสำคัญที่เกิดอยู่ภายในระบอบทุนนิยมประชาธิปไตยแบบไทยๆ ตลอดมาและรัฐบาลที่ขึ้นมาปกครองแต่ละชุดไม่สามารถแก้ไขได้ เกิดความเสื่อมโทรมทางการเมืองในมุมมองของ Samuel Huntington นำไปสู่การเกิดสภาวะอนาธิปไตยของระบบการปกครอง ระบบการค้าการผลิตที่เอาเปรียบทั่วทั้งสังคม เมื่อธุรกิจใดสร้างผลตอบแทนได้กำไรดี กลุ่มทุนต่าง ๆ ก็แย่งกันขาย แข่งกันผลิตจนเกิด ภาวะล้นเกิน ทำให้แรงงาน ทรัพยากรต่าง ๆ และความมั่งคั่งของสังคมถูกแปรให้กลายเป็นสินค้าที่มากเกินความต้องการอย่างมหาศาล ต้องตั้งเก็บไว้ขายไม่ได้ ระบบโลกาภิวัตน์ในสังคมที่มีระบบการเมืองที่เสื่อมโทรม กลับสร้างและสนับสนุนระบบธุรกิจที่เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนใหญ่ที่ได้เปรียบใช้การโฆษณาป่าวร้องว่าทฤษฎีการตลาดหรือกลไกทางการตลาด สินค้ามีมากของถูก สินค้ามีน้อยของแพง ตามความเป็นจริงทฤษฎีนี้เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนผูกขาดในการฮุบกลืนกินกิจการของกลุ่มทุนขนาดเล็ก เมื่อกำลังการผลิตเพิ่มทวีคูณขึ้นอย่างไร้ขีดจำกัด แต่กำลังซื้อของสังคมกลับหดตัวเล็กลงเมื่อเทียบกับผลผลิตที่มากขึ้น ความขัดแย้งนี้ทำให้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจที่การผลิตล้นเกินขึ้นในระบอบทุนนิยม ครั้งแล้วครั้งเล่าหมุนเวียนเป็นรอบ ๆ แบบวัฏจักร เป็นจุดอ่อนของระบอบทุนนิยมที่ไม่สามารถแก้ได้ วิกฤติการณ์เหล่านี้ทำให้คนตกงาน โรงงานถูกยึด เครื่องจักรถูกทิ้งร้างหยุดการผลิตไปเป็นจำนวนมาก สภาพเช่นนี้ทำให้พลังการผลิตของสังคมถูกทำลายอย่างร้ายแรงเป็นวัฏจักรครั้งแล้วครั้งเล่า ขัดขวางการพัฒนาไปของพลังการผลิตเป็นอย่างยิ่ง ตัวอย่างในประเทศไทย ปี 2525 กลุ่มทุนที่เพาะเลี้ยงลูกไก่ แข่งกันผลิตลูกไก่ออกมามากเกินความต้องการในที่สุดต้องนำลูกไก่นับล้านตัวไปทิ้งให้จมน้ำทะเลตาย และเกิดวิกฤติเศรษฐกิจจนต้องลดค่าเงินบาทสองครั้งซ้อนในปี 2525 และปี 2527 ต่อมาตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา กลุ่มทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในไทย ก็แข่งกันสร้างตึกแถว บ้าน ทาวน์เฮ้าส์ คอนโด สนามกอล์ฟ ฯลฯ เกินความต้องการไว้เป็นจำนวนมาก นำมาซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดตามมาในปี 2540 6. บทสรุป สังคมไทยและพลเมืองของประเทศจึงต้องเข้าใจและเรียนรู้โลกาภิวัตน์ ตระหนักในผลกระทบของการพัฒนาประเทศที่เน้นความทันสมัยด้านเดียวที่เกิดขึ้นในอดีต และอาจจะรุนแรงมากขึ้นในอนาคตของการพัฒนาประเทศ การต่อสู้กับระบบโลกาภิวัตน์จำเป็นต้องอาศัยความเข้มแข็งของระบบประชาสังคม ความเป็นพลเมือง ชุมชนเข้มแข็งและท้องถิ่นภิวัตน์ การสร้างวัฒนธรรมการศึกษาที่หางไม่ด้วนมีคุณธรรม จะช่วยพัฒนาคุณภาพของพลเมืองไทย ให้ยกระดับชุมชนที่อ่อนแอ เป็นชุมชนเข้มแข็งพึ่งตนเอง เพราะส่วนใหญ่ของชุมชนเข้มแข็งในสังคมไทยปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นชุมชนไม้เรียง จังหวัดนครศรีธรรมราช ชุมชนสัจจะวันละหนึ่งบาทที่ จังหวัดสงขลา ชุมชนสามขาที่ จังหวัดลำปาง หลวงพ่อนานที่จังหวัดสุรินทร์ ชุมชนบุญนิยมสันติอโศก ล้วนมีลักษณะที่สำคัญร่วมกันคือเป็นชุมชนของคนดี มีคุณธรรม มีหัวใจธรรมะคือพึ่งตนเอง ช่วยเหลือสังคมโดยใช้หลักธรรมะของตนเองและสังคมเป็นภูมิคุ้มกัน ดังนั้นสังคมที่พลเมืองและชุมชนมีจริยธรรมเท่านั้นจึงจะหลุดพ้นบ่วงดำของความชั่วร้ายของระบบทุนโลกาภิวัตน์ได้ เราทุกคนจึงต้องช่วยกัน พัฒนาหัวใจคุณธรรมในตัวเรา ร่วมทำให้สังคมของเราให้มีแต่คนดี คนมีคุณธรรมเกิดขึ้นมากมายในทุกๆระดับของสังคม
#บทความ ดร.บวร ประพฤติดี
#class room ปโท ราม รัฐศาสตร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น